เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.มองศก.ไทยครึ่งปีหลังโตกว่าครึ่งปีแรก คาดทั้งปีโต 3.5% ตามเป้า และส่งออกโต 5% คาดครึ่งปีหลังส่งออกโต 2.7%


 

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายน 2560 ขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยการส่งออกขยายตัวดีในหลายหมวดสินค้า เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตดี สอดคล้องกับอุปสงค์ต่างประเทศที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศและการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากการใช้จ่ายในหมวดบริการและสินค้าคงทน 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวตามการลงทุนภาคก่อสร้าง  และการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวตามรายจ่ายลงทุน ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวตามการผลิตเพื่อขายในประเทศที่ยังไม่ดี และการระบายสินค้าคงคลังของบางอุตสาหกรรม
 
โดยการส่งออกสินค้ามูลค่าขยายตัวต่อเนื่องที่ 7.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำขยายตัว 9.9% ตามการขยายตัวในหลายหมวดสินค้า ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัว 12.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำ ขยายตัว 9.0% ตามการขยายตัวในหลายหมวด ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากขึ้น ที่ 4,283 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเดือนก่อนที่เกินดุล 1,130 ล้านเหรียญสหรัฐ
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง จากการใช้จ่ายหมวดบริการตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่ขยายตัวตามการซื้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคล อย่างไรก็ดี ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมยังไม่เข้มแข็งมาก โดยแม้รายได้ของผู้บริโภคปรับดีขึ้นทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม แต่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงจากความกังวลด้านแนวโน้มราคาสินค้าเกษตร และด้านโอกาสในการหางานทำในอนาคต ส่งผลให้ผู้บริโภคบางส่วนยังระมัดระวังการใช้จ่าย ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวเล็กน้อย ตามเครื่องชี้การลงทุนในภาคก่อสร้างที่หดตัวจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างโดยเฉพาะในธุรกิจพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป มิถุนายน 60 ติดลบ 0.05% ใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ติดลบ 0.04% ตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และราคาอาหารสดที่ลดลงโดยเฉพาะราคาผักและผลไม้จากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากในปีนี้ และผลของฐานสูงเพราะภัยแล้งในปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.45% ใกล้เคียงกับเดือนก่อน
นายดอนกล่าวต่อถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/60 มีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีและทั่วถึงมากขึ้น และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป การใช้จ่ายภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชนยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจ แม้จะชะลอลงตามรายจ่ายลงทุนและการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่ขยายตัวสูงในไตรมาสที่ 1/60 ตามลำดับ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนค่อนข้างทรงตัว โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ดีขึ้น ช่วยชดเชยการลงทุนในภาคก่อสร้างที่หดตัว ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัว ส่วนหนึ่งจากการระบายสินค้าคงคลังของบางอุตสาหกรรม ประกอบกับการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศยังหดตัว
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงต่อเนื่องตามราคาอาหารสด จากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากในปีนี้และฐานสูงเพราะภัยแล้งในปีก่อน ส่วนอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวในระดับต่ำเท่ากับไตรมาสก่อน ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องตามรายรับจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น
"เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังน่าจะขยายตัวได้ดีกว่าครึ่งปีแรก โดยไตรมาส 1/60 ขยายตัว 3.3% โดยคาดว่าไตรมาส 2/60 จะทรงตัวจากไตรมาส 1/60 อย่างไรก็ตาม ในครึ่งปีหลังน่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น ซึ่งถ้าหากต้องการให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 3.5% เศรษฐกิจครึ่งปีหลังต้องขยายตัวถึง 3.7% สำหรับการบริโภคในประเทศและลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัว แต่ยังมองว่าการลงทุนภาคเอกชนยังหดตัว โดยไตรมาส 1/60 หดตัวไป 1.1% ซึ่งทั้งปียังคงไว้ที่ 1.8% อย่างไรก็ตาม ตัวที่สนับสนุน คือ การลงทุนภาครัฐ และการส่งออก โดยในครึ่งปีแรกส่งออกขยายตัว 7.4% ส่วนในครึ่งปีหลังคาดว่าจะขยายตัว 2.7% ซึ่งยังคงเป้าหมายส่งออกในปีนี้ขยายตัวที่ 5%”นายดอนกล่าว
สำหรับค่าเงินบาทที่แข็งค่านั้นมาจากการที่สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่า อย่างไรก็ตาม ยังมีการเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับสกุลเงินในภูมิภาค และไทยไม่ได้สูญเสียหรือกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันทางด้านส่งออก แต่แนะนำให้ภาคเอกชนหรือผู้ส่งออกควรทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (แฮดจิ้ง)ไว้ด้วย
ส่วนทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐในปีนี้ ธปท.ยังมองว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้งในปีนี้ แม้ตลาดโดยรวมคาดว่าจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยแล้ว เนื่องจากภาครวมเศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในภาพที่ฟื้นตัวได้ดี แม้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เคยให้น้ำหนักไว้จะไม่เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในภาคอีสานขณะนี้ ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย ซึ่งน้ำท่วมในอดีตที่ผ่านมา เช่น ภาคใต้ ผลกระทบจะมีความรุนแรงมากกว่าอีสาน เนื่องจากภาคใต้เป็นฐานการผลิตยางพารา อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผลกระทบจากน้ำท่วมจะเป็นเพียงระยะสั้น หลังจากน้ำลดก็จะมีการซ่อมบ้านเรือนและ ที่อยู่อาศัยในภายหลัง

 


LastUpdate 31/07/2560 20:21:50 โดย :
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 7:42 am