แบงก์-นอนแบงก์
ออมสินจับมือทิพยประกันภัยผุดโครงการ ผนึกกำลังช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม อย่างเร่งด่วน


      

ธนาคารออมสิน + ทิพยประกันภัย จัดโครงการผนึกกำลังช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยส่งทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ร่วมกันสำรวจความเสียหาย ทั้งจัดรถยกเคลื่อนย้ายรถที่เสียหายพร้อมมาตรการบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัยน้ำท่วมในหลายจังหวัดพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดสกลนคร

นายชาติชาย  พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิ เปิดเผยว่า วันนี้ (2 สิงหาคม 2560) ตนนำผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้าง ลงพื้นที่ประสบภัยจังหวัดสกลนคร พบความเสียหายค่อนข้างมาก จึงเร่งให้พนักงานสำรวจความเสียหายในส่วนที่สามารถบรรเทาในระยะเร่งด่วนก่อน แล้วค่อยลำดับไปตามมาตรการที่ธนาคารออมสินได้ประกาศไว้ ทั้งนี้ ธนาคารฯ ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนอีก 1 เรื่อง ด้วยการเปิดช่องทางการรับบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยและบรรเทาเหตุอุทกภัย ชื่อบัญชีออมสินปันน้ำใจ ช่วยผู้ประสบภัยเลขที่บัญชี 0-222-3333-4444 ธนาคารออมสินสำนักพหลโยธิน จึงขอเรียนเชิญร่วมกันช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน

ความเสียหายที่วันนี้ผมได้ลงพื้นที่ ปรากฎว่า เฉพาะในพื้นที่จังหวัดสกลนคร เบื้องต้นมีลูกค้าธนาคารออมสินได้รับความเสียหาย 4,800 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 1,700 ล้านบาท ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อห้องแถว สินเชื่อเคหะ สินเชื่อไทรทอง และสินเชื่อธนาคารประชาชน ส่วนพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ได้เร่งดำเนินการต่อไปแล้วนายชาติชาย กล่าว

สำหรับแนวทางบรรเทาความเดือดร้อน ธนาคารฯ ได้ประกาศก่อนหน้านี้คือ มาตรการบรรเทาภาระลูกค้าสินเชื่อของธนาคารออมสินเป็นกรณีเร่งด่วน ในวงเงินรวมทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท โดยสามารถยื่นความจำนงได้ที่ธนาคารออมสินสาขาที่ลูกค้ามีบัญชีเงินกู้หรือสาขาในพื้นที่ประสบภัย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2560

สำหรับรายละเอียดของมาตรการประกอบด้วย มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับลูกค้าสินเชื่อปัจจุบันของธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ โดยผ่อนปรนการชำระหนี้ให้แก่ลูกค้าที่ได้รัธผลกระตบ 3 ทางเลือก ได้แก่ 1.พักชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี หรือ 2.พักชำระเงินต้นและพักชำระดอกเบี้ยอีก 50% ไม่เกิน 3 ปี หรือ 3.พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน (สำหรับผู้ไม่มีรายได้ประจำเป็นเงินเดือน) โดยหลังครบกำหนดแล้วยังไม่สามารถชำระหนี้ตามปกติได้ สามารถใช้ทางเลือกตามข้อ 1 หรือ ข้อ 2 เพิ่มเติมได้ ขึ้นอยู่กับความเดือดร้อนและความเสียหายที่ได้รับแล้วแต่กรณี

มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย ธนาคารฯให้สินเชื่อเพื่อต่อเติมหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัยรายละไม่เกิน 500,000 บาท เป็นวงเงินเพื่อใช้จ่ายในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 90 ของราคาประเมินที่ดินพร้อมอาคาร ผ่อนชำระภายในเวลา 30 ปี โดย ธนาคารฯ ไม่คิดดอกเบี้ยในปีแรก หรือ 0% ต่อปี หลังจากนั้น ปีที่ 2-3 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.00 ต่อปี ปีที่ 4 เป็นต้นไป ฃ้อยละ MRR-0.75 ต่อปี (อัตราดอกเบี้ย MRR ปัจจุบัน = 7.00%) ในส่วนของลูกค้าที่ประกันความเสียหายของหลักประกัน ธนาคารออมสินร่วมกับบริษัททิพยประกันภัยจะเร่งดำเนินการจ่ายเงินสินไหมให้ทันทีตามเกณฑ์ผ่อนผันสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติ

มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ธนาคารให้สินเชื่อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติกับลูกค้าสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจเดิมของธนาคาร ในวงเงินกู้สูงสุด ในวงเงินไม่เกินร้อยละ 10 ของวงเฅินกู้สินเจื่อเพื่อการประกอบธุรกิจเดิมทุกประเภท สูงสุดไม?เกินรายละ 5,000,000 บาท ผ่อนชำระไม่เกิน 5 ปี (60 งวด) ผ่อนผันให้ปลอดชำระเงินต้นได้ไม่เกิน 1 ปี โดยชำระดอกเบี้ยทุกเดือน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปีที่ 1 ร้อยละ 3.50 ต่อปี ในปีต่อไปคิดอัตรา MLR ต่อปี (อัตราดอกเบี้ย MLR ปัจจุบัน = 6.50%) โดยใช้หลักประกันเดิมตามสัญญากู้เงิน และสามารถใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันเพิ่มเติมได้สำหรับมาตรการสุดท้าย บรรเทาความเดือดร้อนสำหรับประชาชนรายย่อย โดยให้กู้ตามความจำเป็น รายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาชำระคืนภายใน 5 ปี ปลอดการชำระคืนเป็นเวลา 3 เดือน โดยปีที่ 1 คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อเดือน ปีที่ 2-5 ร้อยละ 1.00 ต่อเดือน (Flat Rate)

ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทิพยประกันภัย กล่าวว่า ได้ส่งทีมหนุมานทิพยจิตอาสาและทีมงานจากสำนักงานสาขาในจังหวัดใกล้เคียงลงพื้นที่ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยจัดรถยก ช่วยเหลือประชาชนขนย้ายรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าหรือประชาชนทั่วไป ก็สามารถขอความช่วยเหลือได้ฟรี รวมถึงการจัดถุงยังชีพ บรรจุเครื่องอุปโภค-บริโภค นำไปมอบให้กับประชาชน เบื้องต้นได้นำไปมอบผ่านคลังจังหวัดสกลนคร และทางด้านสำนักงานใหญ่ได้จัดทีมคาราวาน เดินทางนำสิ่งของเครื่องอุปโภค-บริโภคไปแจกจ่ายเพิ่ม 

ในส่วนของลูกค้าที่ทำประกันเราผ่านธนาคารออมสิน เราได้จัดทีมสินไหมลงพื้นที่ ไปสำรวจยังบ้านของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทันทีพร้อมจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นทันทีโดยไม่ต้องรอให้ลูกค้าแจ้งเข้ามา สำหรับลูกค้าที่ทำประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 และได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมถึงเรือนไมล์

สามารถเคลมได้เต็มทุนประกัน ไม่ต้องรอน้ำลด เพียงแค่ถ่ายรูปแล้วส่งมาที่บริษัทฯ พร้อมจ่ายทันที ส่วนลูกค้าที่ทำประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยและขยายภัยน้ำท่วม เพียงแค่น้ำเข้าบ้านชดใช้เบื้องต้นก่อนทันที 5,000 บาท ท่วมเกิน 1 ฟุตจ่าย 10,000 บาท  ไม่ต้องรอน้ำลดเช่นกัน ซึ่งเมื่อน้ำลดแล้วบริษัทฯจะส่งทีมงานเข้าไปเพื่อสำรวจค่าเสียหายเพิ่มเติมอีกครั้ง

ด้านมาตรการความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมต่อไปนั้น ทางทิพยประกันภัย มีความเป็นห่วง ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการต่างๆ ที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงลูกค้ารายย่อยที่ทำประกันภัยไว้ทุกประเภท ดังนั้นหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ บริษัทฯมีนโยบายให้ดำเนินการสำรวจความเสียหายอย่างเร่งด่วน เพื่อให้การจ่ายค่าสินไหมทดแทนสามารถดำการได้ทันทีรวดเร็วและเป็นธรรม  เพื่อให้ผู้ประกอบการที่เอาประกันภัยสามารถนำเงินไปฟื้นฟู กิจการและดำเนินธุรกิจต่อได้ในเวลาที่รวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรม ภาคแรงงาน และเศรษฐกิจโดยรวม  รวมถึงผู้เอาประกันประเภทอื่นทั้งที่อยู่อาศัย หรือรถยนต์ ที่จะนำไปปรับปรุงซ่อมแซม ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขเช่นเดิม

สำหรับประชาชนผู้ประสบภัยและต้องการความจ่วยเหลือ สามารถแจ้ง ผ่านสายด่วน  1736 กด 1 , Application TIP Flash Claim , Web App  E-Claim , Facebook ทิพยประกันภัย , สำนักงานสาขาในพื้นที่  และสาขาใกล้เคียง อาทิ สาขาอุดรธานี สาขามุกดาหาร สาขาร้อยเอ็ด สาขาขอนแก่น โดยสามารถโทรได้ที่เบอร์ 1736 กด 1 หรือพื้นที่จุดรับแจ้งที่เราจะไปร่วมกับ คปภ. ตรงศูนย์ราชการ จังหวัดสกลนคร และ ธนาคารออมสินทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ โทรศัพท์สอบถามศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ธนาคารออมสิน Call Center โทร.1115 หรือสามารถติดตามได้ตามสื่อประชาสัมพันธ์ของธนาคารออมสินทุกช่องทาง ได้แก่ Website : www.gsb.or.th, Facebook : GSB Society, Official Line : GSB ธนาคารออมสิน


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ส.ค. 2560 เวลา : 00:55:01
17-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 17, 2024, 6:46 am