เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% เตรียมทบทวนจีดีพีปีนี้และปีหน้าใหม่


กนง.มีมติคงอัตราดบ.นโยบาย ที่ 1.5% ต่อปี  ชี้ศก.ยังขยายตัวดีต่อเนื่อง จากการส่งออก มองเงินเฟ้อทั่วไปครึ่งปีหลังมีแนวโน้มสูงขึ้น จับตาเงินบาทแข็งค่า หวั่นกระทบภาคธุรกิจ ยันมีมาตรการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเพียงพอ  

 

   
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.5% ต่อปี โดยคณะกรรมการประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องจากการส่งออกสินค้าและบริการ ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่ยังไม่กระจายตัว 

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทยอยปรับตัวสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอกว่าที่คาด จากปัจจัยด้านอุปทานโดยเฉพาะราคาอาหารสดเป็นหลัก  
    
อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างชะลอลง ส่วนการลงทุนของภาครัฐขยายตัวได้น้อยกว่าที่คาดไว้ 

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามจากต่างประเทศ เช่น แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐ และความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก 
    
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงกว่าที่ประเมินไว้เล็กน้อย จากอุปทานเป็นสำคัญ โดยเฉพาะจากราคาอาหารสดที่ปรับลดลงตามผลผลิตผักและผลไม้ที่เพิ่มสูงขึ้นตามสภาวะอากาศที่เอื้ออำนวยและผลของฐานสูงจากภาวะภัยแล้งในปีก่อน ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ  
   
“เงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีอย่างช้าๆตามด้านอุปทานที่จะทยอยลดลงและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ส่วนการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่ากลางของกรอบเป้าหมาย ด้านภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นที่ปรับลดลงเป็นผลจากปริมาณการออกพันธบัตรระยะสั้นของ ธปท. และรัฐบาลที่ลดลงเป็นสำคัญ ด้านภาคธุรกิจสามารถระดมทุนได้เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อสถาบันการเงินและตลาดทุนในช่วงที่ผ่านมา "  นายจาตุรงค์
    
ขณะที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อค่าเงินดอลลาร์ปรับลดลง และปัจจัยพื้นฐานด้านต่างประเทศของไทยปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 

อย่างไรก็ตามมองว่า ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นกว่าสกุลเงินภูมิภาคในบางช่วง อาจกระทบต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจจึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม กนง.ระบุว่า ธปท.จะติดตามดูแล และมีมาตรการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ผ่านการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้าย  
    
“ระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ สามารถรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศได้ดี แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุด โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำนาน ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร นอกจากนี้ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจเอสเอ็มอีด้วย รวมถึงปัจจัยจากต่างประเทศ และการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ”นายจาตุรงค์ กล่าว  
    
นายจาตุรงค์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ธปท.จะประเมินตัวเลขจีดีพี ปี 60 และ 61 และตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปใหม่อีกครั้งในการประชุมกนง.ครั้งต่อไป และจะแถลงตัวเลขอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2560 ทั้งนี้ ในการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะนำผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่เข้าในการประเมินด้วย สำหรับเบื้องต้น คาดว่า เหตุการณ์น้ำท่วมได้สร้างความเสียหายประมาณ 7.5 พันล้านบาท ขณะที่ผลกระทบต่อจีดีพีคงไม่มากนัก เนื่องจากมีสัดส่วนของภาคเกษตรในการประเมินจีดีพีค่อนข้างน้อย

บันทึกโดย : วันที่ : 16 ส.ค. 2560 เวลา : 18:16:33
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 4:42 am