เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กนง. คงดอกเบี้ย มองเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่องจากการส่งออกและการท่องเที่ยว


กนง. คงดอกเบี้ย มองเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่องจากการส่ง

KEY POINT

- คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในการประชุมวันที่ 16 สิงหาคม 2017

- กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง จากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวครอบคลุมในหลายกลุ่มสินค้าและตลาดส่งออกสำคัญ ประกอบกับการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตต่อเนื่อง ด้านการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหมวดก่อสร้างเติบโตชะลอลง ส่วนการลงทุนของภาครัฐขยายตัวได้น้อยกว่าที่คาด ทั้งนี้ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ อาทิ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ และความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก

- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีทิศทางปรับสูงขึ้นแต่ในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่คาดไว้เดิมเล็กน้อย จากราคาอาหารสดที่ปรับลดลงตามผลผลิตผักและผลไม้ที่เพิ่มสูงขึ้น ตามสภาวะอากาศที่เอื้ออำนวยและผลของฐานสูงจากภาวะภัยแล้งในปีก่อน ทั้งนี้ กนง. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีอย่างช้าๆ 

- เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นนับจากต้นปี เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองสหรัฐฯ ที่อาจทำให้แผนปฏิรูปภาษีล่าช้า ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับลดลง ประกอบกับปัจจัยพื้นฐานด้านต่างประเทศของไทยปรับดีขึ้น ทั้งนี้ กนง. มองว่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าสกุลเงินภูมิภาคอาจกระทบต่อการปรับตัวของธุรกิจ และเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด

- กนง. มองเศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก โดยเฉพาะนโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

Implication

อีไอซีคาด กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ตลอดทั้งปี 2017 เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจไทยที่ยังคงขยายตัวแบบไม่ทั่วถึง การลงทุนที่ยังฟื้นตัวช้า และเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาด  โดยอีไอซีมองว่าความเป็นไปได้ในการลดดอกเบี้ยนโยบายยังมีน้อย แม้คาดการณ์เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 1.0%-4.0% เนื่องจาก กนง. มองว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอาจส่งผลให้ผู้ลงทุนแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วยการเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเกินตัว 

ตารางสรุปคำแถลงการณ์ของ ธปท เทียบกับการประชุมครั้งก่อน

เศรษฐกิจไทย

การประชุมครั้งก่อน (5 .. 2017)

เศรษฐกิจไทยในภาพรวมขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง จากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวมากขึ้นและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวเร็ว ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวตามรายได้ภาคเกษตร แต่รายได้แรงงานภาคการผลิตยังไม่ได้รับผลดีชัดเจนจากการส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวอย่างช้า  อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังต้องระมัดระวังปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ นโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีน ความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์ และสถานการณ์แรงงานต่างด้าว

การประชุมครั้งนี้ (16 .. 2017)

เศรษฐกิจไทยในภาพรวมขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง จากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวครอบคลุมในหลายกลุ่มสินค้าและตลาดส่งออกสำคัญ การท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง และผลผลิตภาคการเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น ด้านการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างชะลอลง ส่วนการลงทุนของภาครัฐขยายตัวได้น้อยกว่าที่คาด ทั้งนี้ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ อาทิ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ และความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก

สถานการณ์เงินเฟ้อ 

การประชุมครั้งก่อน (5 .. 2017)

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอตัวลง จากผลผลิตผักและผลไม้ที่เพิ่มสูงขึ้นและผลของฐานสูงจากภาวะภัยแล้งในปีก่อนทำให้ราคาลดลง และราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยปรับสูงขึ้นอย่างช้า 

การประชุมครั้งนี้ (16 .. 2017)

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีทิศทางปรับสูงขึ้นแต่ในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่คาดไว้เดิมเล็กน้อย จากราคาอาหารสดที่ปรับลดลงตามผลผลิตผักและผลไม้ที่เพิ่มสูงขึ้นตามสภาวะอากาศที่เอื้ออำนวยและผลของฐานสูงจากภาวะภัยแล้งในปีก่อน ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีอย่างช้าๆ 

ความเสี่ยงที่ กนง. ติดตาม

การประชุมครั้งก่อน (5 .. 2017)

1. นโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ

2. นโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก

3. ความสามารถชำระหนี้ของธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม

4. พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) 

5. สถานการณ์แรงงานต่างด้าว

การประชุมครั้งนี้ (16 .. 2017)

1. นโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ

2. แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

3. ความสามารถชำระหนี้ของธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม

4. พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield)

5. เงินบาทที่แข็งค่ากว่าสกุลเงินภูมิภาคอาจกระทบต่อการปรับตัวของธุรกิจ

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย

การประชุมครั้งก่อน (5 .. 2017)

มติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50%

การประชุมครั้งนี้ (16 .. 2017)

มติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50%

เหตุผลของกนง.

การประชุมครั้งก่อน (5 .. 2017)

นโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป โดยเศรษฐกิจไทยขยายตัวชัดเจนมากขึ้น แต่อุปสงค์ในประเทศยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควร

การประชุมครั้งนี้ (16 .. 2017)

นโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป โดยเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง ขณะที่อุปสงค์ในประเทศขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควร


LastUpdate 17/08/2560 12:36:11 โดย : Admin
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 6:39 am