เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ห่วง สังคมไร้เงินสด เพิ่มโอกาสเป็นหนี้-ลดวินัยการออม


 

สังคมไร้เงินสดแม้จะสร้างความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตให้ง่ายขึ้น   แต่ในอีกด้านการใช้จ่ายที่ง่ายขึ้น ทำให้มีโอกาสที่หนี้ภาคครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นก็มีมากเช่นกัน   ซึ่ง นายศุภชัย  พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนาหรือ อังค์ถัด(UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO)  ยอมรับว่า เป็นห่วง  เรื่องการมุ่งสู่สังคมไร้ เงินสดหรือ Cashless Society  และตนเองไม่เห็นด้วย   อาจจะทำให้คนใช้จ่ายอย่างไม่ระมัดระวัง   เพราะการใช้จ่ายที่ง่ายขึ้นทำให้เกิดการใช้จ่ายเกินตัว   ยิ่งส่งเสริมให้เป็นหนี้ เพราะสังคมไทยในปัจจุบันมีหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ถึง 79-80%   ซึ่งในอนาคตอาจจะ เพิ่มเป็น 100% ต่อจีดีพีก็ได้   

ขณะที่การเข้าสู่สังคมไร้เงินสดของไทยมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า  โดยสะท้อนจาก ผลสำรวจของวีซ่า เกี่ยวกับการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคนั้น ที่แสดงให้เห็นว่า 9 ใน 10 ของคนไทยสนใจที่จะชำระเงินผ่านกระเป๋าเงินออนไลน์ หรือ Mobile Wallet หากมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่น่าไว้วางใจ  รวมถึงข้อเสนอจูงใจและบริการเสริมอื่นๆ เช่น แบรนด์ลอยัลตี้โปรแกรมและการสะสมแต้มต่างๆ เป็นต้น

 

ทั้งนี้ การทำแบบสำรวจครั้งที่ 4 ประจำปี  พบว่า 94% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีแนวโน้มที่จะใช้ Mobile Wallet แทนเงินสดมากขึ้น   หากการชำระเงินผ่าน Mobile Wallet มีข้อเสนอและรางวัลต่างๆ รวมถึงฟังก์ชันในตัว เช่น การสะสมแต้ม   การแจ้งเตือนทันทีเมื่อเกิดการสั่งซื้อ รวมถึงใบเสร็จรับเงินแบบดิจิตอล   เพื่อติดตามค่าใช้จ่าย สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะลองใช้ โมบายวอลเล็ต มากยิ่งขึ้น

ซึ่งวีซ่าในฐานะผู้ให้บริการการชำระเงินระดับโลก ยังคงพัฒนาทั้งระบบการชำระเงินอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจุดรับบัตรทั่วโลก การสร้างแพลตฟอร์มผลิตภัณฑ์ด้านนวัตกรรมต่างๆ สิทธิประโยชน์และโปรโมชั่นจูงใจ   รวมถึงการเพิ่มความปลอดภัยให้รัดกุมและทันสมัย

โดยเฉพาะ QR Code  จะเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนโลกให้เข้าสู่สังคมไร้เงินสดในอนาคต วีซ่าและสมาชิกของ EMVCo ได้มีการเปิดตัวมาตรฐาน QR Code แบบใหม่ทั่วโลก และได้มีร้านค้านำมาตรฐานนี้ไปใช้อย่างประสบความสำเร็จในกว่า 15 ประเทศทั่วโลก


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 ส.ค. 2560 เวลา : 14:51:50
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 11:52 pm