เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
อาเซียนเร่งพัฒนาสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน


อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน ครั้งที่ 31 (31st AFTA Council) เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยที่ประชุมมุ่งเน้นการลดอุปสรรคทางการค้าจากมาตรการที่มิใช่ภาษีลง และการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการอาเซียน สามารถดำเนินธุรกิจระหว่างกันได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น รวมถึงตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าภายในภูมิภาคเป็น 2 เท่า ภายในปี 2568


นายบุณยฤทธิ์  กัลยาณมิตร  อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุม AFTA Council ครั้งที่ 31 ว่าที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาผลการดำเนินการด้านการค้าสินค้าของอาเซียนภายใต้ AEC Blueprint 2025 หลังจากที่อาเซียนได้เข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันอัตราภาษีนำเข้าโดยรวมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนลดเป็นศูนย์แล้วกว่าร้อยละ 96 ของรายการสินค้าทั้งหมดแล้ว และมุ่งเน้นการลดอุปสรรคทางการค้าจากมาตรการที่มิใช่ภาษีลง และเน้นการดำเนินการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการอาเซียนสามารถดำเนินธุรกิจระหว่างกันได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งย้ำเป้าหมายลดต้นทุนธุรกรรมลงร้อยละ 10 ภายในปี 2563 และรับรองเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าภายในภูมิภาคเป็น 2 เท่าภายในปี 2568
 
 

ผลงานเด่นๆ ของอาเซียนด้านสินค้ามีดังนี้

          1. ผลสำเร็จจากการลดภาษีระหว่างกันของอาเซียน โดยภาษีนำเข้าของอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไนฯ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ร้อยละ 99.2 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมดเป็น 0 แล้ว ขณะที่ภาษีนำเข้าของ CLMV ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ถูกยกเลิกไปแล้วร้อยละ 90.9 ในภาพรวมภาษีนำเข้าของอาเซียน 10 ประเทศ จึงเป็น 0 แล้วถึงร้อยละ 96.01  

          2. อาเซียนกำลังดำเนินการปรับโอนพิกัดศุลกากรตารางข้อผูกพันภาษีสินค้าและสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศจากระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2012 เป็นฉบับปี 2017 (AHTN 2012 เป็น AHTN 2017) รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขบัญชีกฎเฉพาะรายสินค้าของอาเซียนจาก AHTN 2012 เป็น AHTN 2017 เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับโอนรายการพิกัดศุลกากรขององค์การศุลกากรโลก ซึ่งเป็นไปตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมุ่งหวังให้เริ่มดำเนินการได้ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2561

          3. การดำเนินโครงการนำร่องระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (ASEAN-wide Self-certification) มี 2 โครงการนำร่อง คือ โครงการที่ 1 การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของผู้ผลิตและผู้ค้า มี 6 ประเทศเข้าร่วม ได้แก่ บรูไนฯ กัมพูชา มาเลเซีย เมียนมา สิงคโปร์ และไทย และมีผู้ได้รับอนุญาตให้รับรองถิ่นกำเนิดสินค้าได้ด้วยตนเอง จำนวน 455 ราย และโครงการที่ 2 ให้รับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองเฉพาะผู้ผลิต มี 5 ประเทศ เข้าร่วม ได้แก่ อินโดนีเซีย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม มีผู้ได้รับอนุญาต 127 ราย ซึ่งอาเซียนอยู่ระหว่างเร่งเจรจาเพื่อปรับระเบียบปฏิบัติของสองโครงการให้เป็นระบบเดียว เพื่อให้สามารถเริ่มใช้งานระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียนทุกประเทศได้ภายในปี 2561 ทั้งนี้ การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง จะส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่ต้องการใช้สิทธิประโยชน์ตามความตกลง ATIGA สามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องไปขอรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าจากภาครัฐ และช่วยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในขั้นตอนการขอใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า 

          4. ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า รัฐมนตรีอาเซียนได้รับรองแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน (AEC 2025 Trade Facilitation Strategic Action Plan: ATF-SAP) และตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของการอำนวยความสะดวกทางการค้าในอาเซียน (ASEAN Seamless Trade Facilitation Indicators: ASTFIs) โดย ATF-SAP กำหนดแนวทางดำเนินการตามมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายในอาเซียนเพื่อส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมาย ได้แก่ (1) ลดต้นทุนธุรกรรมทางการค้าภายในภูมิภาคลงร้อยละ 10 ภายในปี  2563 (2) เพิ่มการค้าภายในภูมิภาคเป็น 2 เท่าภายในปี  2568 และ (3) ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในระดับโลกดีขึ้น โดยมี ASTFIs เป็นตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์และความก้าวหน้าของการดำเนินการตามมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่ประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ภาคเอกชนและผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อช่วยให้การอำนวยความสะดวกทางการค้าในอาเซียนบรรลุผลสำเร็จได้เร็วยิ่งขึ้น

          5. อาเซียนให้ความสำคัญกับการใช้คลังข้อมูลทางการค้าอาเซียน (ASEAN Trade Repository: ATR) (atr.asean.org) และคลังข้อมูลระดับประเทศ (National Trade Repository: NTR) ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลกฏระเบียบทางการค้าของสมาชิก เช่น พิกัดศุลกากร อัตราภาษีศุลกากร และมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) โดย ATR และ NTR จะเป็นเครื่องมือในการรับมือกับมาตรการ NTMs เพิ่มความโปร่งใส และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs เข้าถึงข้อมูลได้สะดวกรวดเร็ว ไม่มีค่าใช้จ่าย และช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก ในส่วนของคลังข้อมูลการค้าของไทย (www.thailandntr.com) จัดตั้งแล้วเสร็จเมื่อปี 2557 โดยในปี 2559 มีผู้เยี่ยมชมมากกว่า 1.5 แสนครั้ง และ NTR ของไทยได้เชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับคลังข้อมูลทางการค้าอาเซียนแล้ว

          6. อาเซียนให้ความสำคัญกับระบบ ASSIST (ASEAN Solutions for Investment, Services and Trade) ซึ่งเป็นช่องทางออนไลน์ให้ภาคธุรกิจสามารถยื่นข้อร้องเรียนและรับการตอบสนองเกี่ยวกับประเด็นอุปสรรคทางการค้า และการลงทุนภายใต้กรอบอาเซียน แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการยังไม่ค่อยใช้ประโยชน์จากระบบ ASSIST มากนัก จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ภาคเอกชนเข้ามาใช้ประโยชน์จากช่องทางนี้ให้มากขึ้น

          7. อาเซียนก้าวสู่พัฒนาการอีกขั้นของ ASEAN Single Window: ASW (การพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน) โดยได้จัดตั้งศูนย์ PMO (Project Management Office) ณ สำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อบริหารจัดการงานของ ASW ปัจจุบัน สมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ได้ดำเนินโครงการนำร่องในการแลกเปลี่ยน e-Form D (หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์) แล้ว และอาเซียนมีเป้าหมายจะแลกเปลี่ยนเอกสารข้ามแดนอื่นๆ เช่น e-Phyto (เอกสารสุขอนามัยพืชแบบอิเล็กทรอนิกส์) ภายในเดือนธันวาคม 2560 และ e-ACDD (เอกสารใบศุลกากรอาเซียนแบบอิเล็กทรอนิกส์) ในปี  2561 ด้วย ทั้งนี้ อาเซียนได้รับรองการปรับปรุงแก้ไขระเบียบปฏิบัติการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Operational Certification Procedures: OCP) และการมีผลใช้บังคับของพิธีสารว่าด้วยกรอบกฎหมาย (Protocol on Legal Framework: PLF) เพื่อให้ ASW เริ่มดำเนินการได้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ซึ่งจะอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ ทั้งการนำเข้า การส่งออก ลดต้นทุนการบริหาร การจัดการ และการใช้ทรัพยากรต่างๆ ในส่วนของไทย กรมศุลกากรได้เตรียมความพร้อมในการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 36 หน่วยงาน ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดระยะเวลาในการเตรียมและยื่นเอกสารสำหรับผู้นำเข้า-ส่งออก และสามารถช่วยลดต้นทุนด้านการขนถ่ายสินค้าลงได้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 ก.ย. 2560 เวลา : 14:19:19
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 6:30 am