เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ความสามารถแข่งขันไทย ขยับ 2 อันดับ มาอยู่ที่ 32 ของโลก


ดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก ขยับมา 2 อันดับ ขึ้นที่ 32 ของโลก ด้วยคะแนน 4.7 จากเต็ม 7 คะแนนโดยเฉพาะสัดส่วนการเป็นสมาชิกมือถือ อันดับดีขึ้นจากอันดับที่ 55 เป็นอันดับที่ 5

 


 

.ดร.พสุ  เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของWEF (World Economic Forum)ในประเทศไทย  เปิดเผยว่าทางคณะฯ เป็นผู้ทำการเก็บข้อมูลเชิงลึกจากแบบสอบถามกับผู้บริหารระดับสูงขององค์กรขนาดใหญ่และขนาดย่อม ในทุกภาคส่วนอุตสาหกรรม  และ WEFจะนำข้อมูลไปคำนวณดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก โดยมีตัวชี้วัด 114 ตัว จัดแบ่งเป็น 3 กลุ่มใน 12 ด้าน  ที่สะท้อนภาพความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ

 


 

สำหรับปีนี้ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 32 ด้วยคะแนน 4.7 ซึ่งนับว่าดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 34 และมีคะแนน 4.6 โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า คะแนนและอันดับของประเทศนั้น หากเปรียบเทียบกับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย ในปีที่ผ่านมา จะพบว่า ด้านที่มีอันดับที่ดีขึ้นและส่งผลบวกต่อดัชนีความสามารถทางการแข่งขันโดยรวม ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)ที่ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นจาก 4.4 เป็น 4.7 และได้รับอันดับดีขึ้นจาก 49 เป็น 43 นับเป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากในแง่ของอันดับที่สูงขึ้นจากคุณภาพของถนน คุณภาพของโครงสร้างระบบราง คุณภาพของท่าเรือ คุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางอากาศ และโดยเฉพาะในแง่ของสัดส่วนการเป็นสมาชิกโทรศัพท์เคลื่อนที่/มือถือนั้น ได้รับอันดับดีขึ้นอย่างมากจากอันดับที่ 55 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับที่ 5 ในปีนี้

 


 

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นในหลายๆ ด้านในปีนี้ ประกอบด้วย ด้านประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน  ด้านสภาพแวดล้อม ด้านหน่วยงาน ด้านการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม ด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหาภาค รวมถึงด้านที่บ่งชี้ถึงการพัฒนาของประเทศอย่างชัดเจน อย่างทางด้านนวัตกรรมและด้านความพร้อมเทคโนโลยี ก็ได้รับการจัดอันดับที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ด้วย

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยกับภาพรวมของการจัดอันดับทั้งโลก ปรากฏว่าดัชนีชี้วัดที่น่าสนใจของประเทศไทย ที่ได้รับการจัดให้อยู่ใน 30 อันดับแรกของโลกนั้น ประกอบด้วยอัตราการเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาอยู่ในอันดับที่ 8 จาก 137 ประเทศ ซึ่งดีขึ้นอย่างมากจากอันดับในปีที่แล้ว คือ อันดับที่ 84 ในแง่ของสมดุลในงบประมาณรัฐบาล และสัดส่วนการออมของประเทศต่อผลผลิตมวลรวมประชาชาติ ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้อยู่ในอันดับที่ 10 และ 16 ตามลำดับ จาก 137 ประเทศ

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นทางด้านการเงินและการตลาด ที่ประเทศไทยได้รับอันดับในระดับสูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลก ในการจัดหาเงินทุนผ่านทางตลาดทุนในประเทศ ความพร้อมของบริการทางการเงิน ความแข็งแกร่งของระบบธนาคาร และความเพียงพอของทุนร่วมเสี่ยง ซึ่งบ่งชี้ถึงความพร้อมทางด้านตลาดการเงินของประเทศในการสนับสนุนการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัจจัยด้านการตลาดและระดับการมุ่งเน้นตอบสนองลูกค้าได้รับอันดับที่ 21 และ 25 ตามลำดับ ที่แสดงให้เห็นถึงระดับการพัฒนาในแนวคิดด้านการตลาดเช่นเดียวกัน

 


 

ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าในประเด็นดังกล่าวนั้น ประเทศไทยได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงในระดับโลกเมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศในกลุ่มASEAN + 3  ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับไทยเป็นอย่างสูงนั้น   ผลปรากฏว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับในลำดับที่ 6 เมื่อเทียบกับกลุ่มASEAN+3 ทั้งหมด  โดยเป็นรองประเทศ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และ จีน ซึ่งได้รับอันดับเดียวกันกับปีที่ผ่านมานับว่าเป็นการสะท้อนสถานะทางการแข่งขันที่มั่นคงของไทยในเวทีASEAN+3ได้เป็นอย่างดี


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ก.ย. 2560 เวลา : 12:20:25
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 10:48 pm