อสังหาริมทรัพย์
การเคหะฯงัดพื้นที่ 650 ไร่ ผุดมิกซ์ยูส์


การเคหะแห่งชาติ เร่งศึกษาแนวทางพัฒนาที่อยู่อาศัยรอบสถานีและตามแนวรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง งัดที่ดินย่านชุมชนร่มเกล้า พื้นที่ 650 ไร่  ผุดโครงการมิกซ์ ยูส์ 

 


 

นายสุภัคร ลดาวัลย์ อยุธยา รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยว่า กคช.ได้จ้างศึกษาแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยบริเวณโดยรอบสถานีและตามแนวเส้นทางรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้สามารถรองรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นทั้งในเชิงพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย โดยเลือกพื้นที่ของบริเวณชุมชนร่มเกล้า พัฒนาที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)

โดยการเคหะแห่งชาติมีแนวคิดดำเนินมาตรการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ (Planned Unit Development : PUD) ซึ่งเป็นการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน ระบบโครงสร้างมาตรฐาน และการออกแบบอาคารภายในโครงการพัฒนาที่ดินด้วยระเบียบและมารตฐานที่กำหนดขึ้นเป็นพิเศษที่แตกต่างจากแผนผังและข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Zoning) ที่มีอยู่แต่เดิม 

ทั้งนี้ การกำหนดพื้นที่ควบคุมโครงการพัฒนาขนาดใหญ่นี้จะเปิดโอกาสให้นักพัฒนาเอกชนสามารถสร้างความหลากหลายของประเภทการใช้ที่ดิน (Mix Land Use) ความหนาแน่นอาคารและการออกแบบพื้นที่ได้โดยไม่ถูกจำกัดโดยข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเชิงเดี่ยวที่ควบคุมที่ดินแปลงนั้นอยู่ ซึ่งประโยชน์ของมาตรการนี้เป็นการสร้างความหลากหลายของการใช้ประโยชน์ที่ดิน การเพิ่มพื้นที่โล่งว่างสาธารณะ การส่งเสริมการคมนาคมขนส่งแบบไม่ใช้เครื่องยนต์ฯ 

โดยมาตรการดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการประสานงานกับบริษัทที่ปรึกษา (โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด) ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งต้องมีความสอดคล้องกับโหมดการเดินทางในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้ม สีชมพู และการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในระยะที่ 2 ซึ่งจากวิธีการดังกล่าวเป็นการศึกษาเพื่อพิจารณาที่ดินของการเคหะแห่งชาติ ประมาน 630 ไร่ นำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ ประกอบด้วย พื้นที่สีเขียว และสาธารณูปการ รวมทั้ง FAR เพิ่มมากขึ้นโดยจากการศึกษามีวิธีการพัฒนาในหลายรูปแบบ ซึ่งการเคหะแห่งชาติอยู่ระหว่างเลือกรูปแบบที่เหมาะสมที่จะพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

นอกจากโครงการศึกษาดังกล่าวแล้ว การเคหะแห่งชาติยังมีโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาที่อยู่อาศัยที่สำคัญและน่าสนใจ ได้แก่ โครงการวิจัยเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาโครงการเพื่อที่อยู่อาศัยของภาครัฐโดยใช้เกณฑ์ Eco – village โครงการศึกษาวิจัยเพื่อจัดการความรู้เรื่องอัตลักษณ์และภูมิปัญญาด้านที่อยู่อาศัยของท้องถิ่นกรณีศึกษา 5 ภูมิภาค โครงการวิจัยแนวทางการออกแบบที่อยู่อาศัยโดยใช้เทคโนโลยีด้านพลังงาน การบริหารจัดการน้ำและขยะมูลฝอยเพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น


LastUpdate 30/09/2560 12:40:14 โดย : Admin
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 5:57 am