หุ้นทอง
ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นแนวทางกำกับดูแล ICO


ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแล Initial Coin Offering (ICO) สำหรับการออกและเสนอขายดิจิทัลโทเคนที่เข้าข่ายเป็นหลักทรัพย์ เพื่อวางแนวทางกำกับดูแลให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ เพิ่มทางเลือกในการระดมทุนและการลงทุน ในขณะที่ยังสามารถป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่สุจริตอาศัย ICO เป็นช่องทางหลอกลวงเงินจากประชาชน  โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน ศกนี้

 
ICO เป็นการระดมทุนรูปแบบดิจิทัลที่มีศักยภาพในการตอบโจทย์การเข้าถึงทุนของเทคสตาร์ทอัพ (tech startup) และธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) และได้รับความนิยมทั่วโลกจนเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ระดมทุนผ่าน ICO สามารถออกแบบให้ดิจิทัลโทเคน (digital token) ของ ICO แสดงสิทธิของผู้ถือดิจิทัลโทเคน ได้อย่างหลากหลาย  ICO บางกรณีจึงอาจเข้าข่ายเป็นหลักทรัพย์ที่ผู้ระดมทุนต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ของ ก.ล.ต.  ดังนั้น ความชัดเจนในแนวทางของ ก.ล.ต. จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น สนับสนุนกลไกตลาด สร้างมาตรฐานในการระดมทุน  รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดตัวช่วยสำหรับผู้ลงทุนในการแยก ICO เพื่อการระดมทุนอย่างแท้จริง ออกจากกรณีที่ผู้ไม่สุจริตพยายามใช้ช่องทางดังกล่าวหาประโยชน์จากประชาชน
 
แนวทางที่ ก.ล.ต. เสนอในครั้งนี้จึงประกอบด้วยการกำหนดให้ “ส่วนแบ่งร่วมลงทุน”* เป็นนิยามทั่วไปของหลักทรัพย์ซึ่งเป็นตราสารการลงทุนที่มีเงื่อนไขเป็นมาตรฐาน นอกเหนือจากหลักทรัพย์ที่มีการประกาศกำหนดไว้แล้ว เพื่อให้ไม่มีช่องว่างในการกำกับดูแล และทดลองเปิดช่องทางให้เฉพาะ ICO ที่เข้าข่ายเป็นส่วนแบ่งร่วมลงทุนสามารถเสนอขายได้เฉพาะกับ (1) ผู้ลงทุนประเภทสถาบัน (institutional investor) (2) กิจการเงินร่วมลงทุน (venture capital fund) (3) นิติบุคคลร่วมลงทุน (private equity fund) (4) ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (ultra high net worth investor) และ (5) ผู้ลงทุนรายย่อยซึ่งจะถูกจำกัดวงเงินลงทุนแต่ละรายไม่เกิน 300,000 บาทต่อโครงการ
 
ทั้งนี้ ผู้ต้องการระดมทุนในรูปแบบ ICO ต้องทำผ่าน ICO portal ที่ ก.ล.ต. ยอมรับ โดย ICO portal ต้องสามารถดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ได้อย่างครบถ้วน เช่น การคัดกรองคุณภาพ เพิ่มความโปร่งใส และสร้างความมั่นใจในตลาด ICO เป็นต้น โดยเงื่อนไขในการยอมรับ ICO portal อาจครอบคลุมถึงการทำ due diligence และคัดกรองผู้ระดมทุนจากผู้ที่ไม่สุจริต  การตรวจสอบ source code ของ smart contract ที่จะใช้ enforce สัญญาโดยอัตโนมัติเทียบกับ white paper  การมีกระบวนการเพื่อทำความรู้จักตัวตนของผู้ลงทุน (Know-Your-Client)  การดูแลไม่ให้ผู้ลงทุนรายย่อยลงทุนเกินวงเงิน การมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันของการซื้อขายและถือครองดิจิทัลโทเคน และการให้ความร่วมมือกับ ก.ล.ต. ในการกำกับดูแลหลังการเสนอขาย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ต.ค. 2560 เวลา : 16:52:47
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 9:08 am