แบงก์-นอนแบงก์
กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 32.55-32.85 หลังทำสถิติใหม่แข็งค่าต่อเนื่อง


 กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.55-32.85 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 32.68 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เงินบาทยังทำสถิติแข็งค่าสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 400 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรสูงถึง 3.36 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นตราสารอายุไม่เกิน 1 ปี ส่วนดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับเงินหลักทุกสกุล โดยมีแรงขายดอลลาร์เพิ่มขึ้นหลังรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) บ่งชี้ถึงความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่เงินยูโรเคลื่อนไหวผันผวน ในช่วงต้นสัปดาห์ ยูโรเผชิญแรงกดดันจากปัญหาการเมืองในเยอรมนี แต่ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของกลุ่มยูโรโซนช่วยหนุนเงินยูโรให้ฟื้นตัวสู่ระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนได้ในที่สุด 

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะมุ่งความสนใจไปที่ถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ว่าที่ประธานเฟดคนใหม่ต่อวุฒิสภาสหรัฐฯ รวมถึงแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าอาจมีความคืบหน้าในปลายสัปดาห์นี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ สะท้อนว่า ตลาดรับรู้โอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนธันวาคมไปเต็มที่แล้ว แต่ความวิตกของเฟดต่อภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำผิดปกติ สร้างความไม่แน่นอนในเรื่องแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2561 ซึ่งจะจำกัดการฟื้นตัวของค่าเงินดอลลาร์   

สำหรับปัจจัยในประเทศ นอกเหนือจากข้อมูลจีดีพีไตรมาส 3 ที่เติบโตถึง 4.3% แล้ว การส่งออกของไทยยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้น 13.1% ในเดือนตุลาคม และมีการขยายตัวในตลาดสำคัญ อาทิ เอเชียใต้ ยุโรป และจีน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์คาดว่ายอดส่งออกในปีนี้จะเติบโตได้ 9-10% และขยายตัวอย่างน้อย 5% ในปี 2561 ส่วนบันทึกการประชุมรอบล่าสุดของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่าการลดดอกเบี้ยในขณะนี้ไม่ใช่นโยบายที่เหมาะสมและถือเป็นการเร่งให้เกิดความเปราะบางต่อเสถียรภาพของระบบการเงินในอนาคต อย่างไรก็ดี นโยบายแบบผ่อนคลายในปัจจุบันมีความจำเป็นต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อให้อุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวต่อเนื่อง ตัวเลขเศรษฐกิจไทยและท่าทีของกนง.สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะยังอยู่ที่ระดับ 1.50% ก่อนจะมีการปรับขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 นอกจากนี้ ภาวะผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนในจีน และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ซื้อขายใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี เป็นปัจจัยที่น่าจับตามองเพื่อประเมินทิศทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของโลกในระยะถัดไป 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 พ.ย. 2560 เวลา : 16:10:31
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 1:53 pm