เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2561


 

 

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจ และเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสินได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2561 มีโอกาสขยายตัวได้ร้อยละ 4.6 ปรับเพิ่มจากปี 2560 ที่มีโอกาสขยายตัวได้ร้อยละ 4 จากแรงส่งของภาคการส่งออกและภาคบริการ ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีตลอดทั้งปีอีกทั้งยังมีเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจเข้าสู่ระบบจำนวนมากเป็นแรงขับเคลื่อนการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศให้ขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีปัจจัยสนับสนุนดังนี้

 

 


(1)
เศรษฐกิจและการค้าโลกขยายตัวต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักจากการบริโภคและตลาดแรงงาน    ที่แข็งแกร่ง ส่งผลดีต่อการส่งออกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (2) การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามความคืบหน้าของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานฯ โครงการพัฒนาท้องถิ่นของอปท. โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ตามโครงการเพิ่มศักยภาพหมู่บ้านและชุมชนเพื่อความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากฯ (3) การลงทุนภาคเอกชนที่มีความชัดเจนมากขึ้นตามการขยายตัวของภาคการส่งออก ความต่อเนื่องของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และโครงการยกระดับ SMEs (4) ภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากยุโรปและอินเดีย

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ได้แก่ (1) การเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวนจากทิศทางนโยบายเศรษฐกิจและการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก (2) รายได้ภาคเกษตรมีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่รายได้ของแรงงานภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มทรงตัว ประกอบกับหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้กำลังซื้อขยายตัวได้ไม่มากนัก (3) คุณภาพของหนี้ครัวเรือนและธุรกิจ SMEs มีแนวโน้มด้อยลง ส่งผลให้ธนาคารระมัดระวังในการให้สินเชื่อมากขึ้น (4) ความชัดเจนของการเลือกตั้งมีความสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน (5) ความเสี่ยงด้านการเมืองระหว่างประเทศทั้งกรณีวิกฤตคาบสมุทรเกาหลีเหนือและปัญหาตะวันออกกลาง

ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากการเกินดุลการค้าและบริการที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นตามทิศทางราคาพลังงานโลก และอัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น อาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ม.ค. 2561 เวลา : 20:07:00
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 2:18 pm