เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลแก่ประชาชน


นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันมีการนำสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) เช่น Bitcoin Ethereum Litecoin เป็นต้น มาใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ทั้งสำหรับการใช้จ่ายตามร้านค้าทั่วไป รวมไปถึงการชักชวนให้ร่วมลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลดังกล่าว จึงอาจทำให้เกิดข้อสงสัยแก่ประชาชนว่าเงินดิจิทัลและธุรกิจที่เกี่ยวข้องนั้น ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ประกอบกับนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลแก่ประชาชนให้ถูกต้อง
 
 
 
 
โดยให้เน้นย้ำถึงข้อควรระวังและความเสี่ยงในการลงทุนเงินสกุลดังกล่าวให้ชัดเจน และเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2560 กระทรวงการคลังและหน่วยงานกำกับดูแลอันได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกัน ดังนี้
1. ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีของสกุลเงินดิจิทัล (Blockchain) มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการทางการเงินและสร้างนวัตกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ แต่ในประเทศไทยเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ยังไม่ยอมรับเงินสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ เป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย 
2. ปัจจุบันมูลค่าของเงินสกุลดิจิทัลมีความผันผวนมากเกิดจากความต้องการของผู้ซื้อและผู้ขายเป็นหลัก จนอาจไม่สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และบางกรณีมีลักษณะเก็งกำไรสูง ดังนั้น ผู้ที่ถือเงินสกุลดิจิทัลจึงมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนสูงได้ด้วย ผู้ลงทุนจึงควรตระหนักว่าสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด
3. ประชาชนควรใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูงก่อนตัดสินใจลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลเนื่องจากอาจมีผู้มีเจตนาทุจริตมีพฤติกรรมหลอกลวงเงินจากประชาชนโดยอ้างถึงการลงทุนในเงินสกุลดิจิทัลและจูงใจด้วยผลตอบแทนสูงในระยะเวลาสั้น ๆ เช่นเดียวกับกรณีแชร์ลูกโซ่ โดยอาจสังเกตเบื้องต้นจากวิธีการชักจูงด้วยการเสนออัตราผลตอบแทนที่สูงเกินความเป็นจริง การกดดันให้ต้องรีบตัดสินใจลงทุน เป็นต้น ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนด้วย
4. ในบางกรณี การทำธุรกรรมด้วยเงินสกุลดิจิทัลอาจไม่ได้ผ่านการระบุตัวตนหรือการตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินอย่างครบถ้วนจึงอาจเป็นช่องทางให้ผู้มีเจตนาทุจริตใช้ทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การฟอกเงินประชาชน เป็นต้น ประชาชนจึงอาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการดังกล่าวโดยไม่ได้รู้เห็นมาก่อน

5. หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการติดตามพัฒนาการของสกุลเงินดิจิทัลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ จะมีการตั้งคณะทำงานระหว่าง กระทรวงการคลัง ธปท. สำนักงาน กลต. และ ปปง. เพื่อพิจารณาทางเลือกเชิงนโยบายเพื่อดูแลสกุลเงินดิจิทัลอย่างเหมาะสมต่อไป 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ม.ค. 2561 เวลา : 10:43:56
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 2:46 am