เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
วิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจจากเงินเฟ้อ 60 และวิเคราะห์ระดับราคาสินค้าปี 60 (ตามแถลง 3 ม.ค. 61)


นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ นำเสนอสรุปภาวะเศรษฐกิจไทยจากอัตราเงินเฟ้อปี 2560 ดังนี้ 

 

 

เศรษฐกิจไทยปี 2560  ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องจากปี 2559 โดยอัตราการเติบโตอยู่ที่ ร้อยละ 3.9 (คาดการณ์ของ สศช.)  จากการขับเคลื่อนโดยภาคการส่งออกที่เติบโตได้ดีเกินคาดผลจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เมื่อมองเสถียรภาพเศรษฐกิจด้านราคา โดยพิจารณาจาก เงินเฟ้อ ปี 2560 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.66 จากปี 2559 แสดงว่าประชาชนมีระดับค่าครองชีพสูงขึ้นกว่าปี 2559 เล็กน้อย แต่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำเพิ่มขึ้นไม่มาก บ่งว่ากำลังซื้อภาคประชาชนยังทรงตัว

จากการสำรวจราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพของประชาชน จำนวน 422 รายการตลอดปี 2560 ของกระทรวงพาณิชย์ สรุปได้ว่า สถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในปี 60 โดยเฉลี่ยสูงขึ้นจากปี 59 เล็กน้อย โดยเฉพาะราคาสินค้าในกลุ่มที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นเล็กน้อยใกล้เคียงกันในทุกภาค ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และราคาสินค้าที่เกี่ยวกับการรักษา การศึกษา และยานพาหนะ (รถยนต์และรถจักรยานยนต์) สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อของประชาชนที่ดีขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่การใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าคงทนสำหรับใช้ในบ้าน (เช่น ตู้เย็น เตารีด พัดลม  เครื่องปรับอากาศ และเครื่องซักผ้า เป็นต้น) ลดลง โดยมีสาเหตุมาจากการจัดโปรโมชั่นของร้านค้าอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาวะธุรกิจที่อยู่อาศัยอยู่ในช่วงชะลอตัวทำให้ความต้องการสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้านลดลงตามไปด้วย

ในส่วนของสินค้าเพื่อการบริโภค ในกลุ่มอาหารสด ระดับราคาสินค้าลดลงทั่วประเทศ จากผลผลิตที่มีมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 59 ที่เกิดภัยแล้งทำให้ราคาอาหารสดในปี 59 ค่อนข้างสูง ในขณะที่สินค้าเกี่ยวกับเครื่องปรุงอาหารมีราคาที่สูงขึ้น ส่งผลทำให้อาหารแปรรูป และอาหารบริโภคนอก-ในบ้าน ที่ปกติจะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน ค่าพาหนะเป็นหลัก มีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย 

หากพิจารณาการเคลื่อนไหวราคาสินค้าเป็นรายภาคแล้ว พบว่า ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าภาคอื่น เนื่องจากเป็นเขตที่มีเมืองท่องเที่ยวหลายแห่ง โดยเป็นราคาเพิ่มขึ้นของสินค้าอุปโภคเป็นสำคัญ โดยมีภาคกลางเป็นอันดับสอง ตามมาด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคเหนือ ตามลำดับ เป็นที่น่าสังเกตว่าภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ที่ราคาอาหารสดลดลงมากกว่าภาคอื่น เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ สำหรับสินค้าอุปโภค ราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีราคาเพิ่มสูงขึ้นน้อยกว่าภาคอื่น ตามมาด้วยภาคกลางและภาคเหนือ

ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ 

 

โดยสรุป การเคลื่อนไหวของราคาสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อของประชาชนทั่วไปเริ่มดีขึ้นและคาดว่าจะดีขึ้นต่อเนื่องถึงปี 2561 แต่ในกลุ่มตัวอย่างภาคเกษตรและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่กระทรวงพาณิชย์เก็บราคา ยังมีกำลังซื้อน้อยกว่าเฉลี่ยทั้งประเทศ จึงควรมีนโยบายสนับสนุนต่อไปตามที่เริ่มมาแล้ว เช่น การดูแลราคาสินค้าเกษตร โครงการสวัสดิการประชารัฐ  ที่มีเม็ดเงินกว่า 2 พันล้านบาทต่อเดือน รวมทั้งมาตรการสนับสนุน SMEs ให้เข้มแข็ง มีอาชีพใหม่และมีการผลิตและส่งออกได้มากขึ้น เพื่อกระจายตัวของอุตสาหกรรมการส่งออก ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในได้ดีและกระจายถึงระดับชุมชนมากขึ้น 

สำหรับการช่วยเหลือผู้บริโภคในด้านราคาหรือการใช้จ่าย พบว่า ดัชนีราคาในภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว การก่อสร้าง สุขภาพ และการศึกษา มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามการปรับตัวของตลาดแรงงานที่ต้องการแรงงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ Thailand 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล สำหรับการดูแลราคาสินค้าไม่ให้สูงเกินไปนั้น กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการสนับสนุนให้มีร้านหนูณิชย์พาชิมและการดูแลราคาสินค้าที่สำคัญอยู่แล้ว และจะเพิ่มมาตรการต่าง ต่อไปในปี 2561 นี้

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์กรอบอัตราเงินเฟ้อปี 2561 อยู่ที่ ร้อยละ 0.6-1.6 ในปี 2561


LastUpdate 04/01/2561 23:44:38 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 7:28 am