การค้า-อุตสาหกรรม
ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนธันวาคม 2560


การส่งออกของไทยในเดือนธันวาคม 2560 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ที่ร้อยละ 8.6 หรือคิดเป็นมูลค่า 19,741 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยการส่งออกขยายตัวได้ดีในทุกตลาดสำคัญ โดยเฉพาะตลาดอินเดีย และตลาดCLMV มีมูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สำหรับการส่งออกรายสินค้ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 โดยเฉพาะข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป มีการขยายตัวในระดับสูงจากด้านราคาเป็นหลัก สำหรับกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 โดยสินค้าที่มีการขยายตัวในระดับสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

การส่งออกทั้งปี 2560 มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 236,694 ล้านดอลลาร์ สรอ. คิดเป็นอัตราขยายตัวที่ร้อยละ 9.9 สูงสุดในรอบ 6 ปี โดยสินค้าสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนการส่งออก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกี่ยวเกี่ยวเนื่องน้ำมัน ยางพารา โทรศัพท์ ข้าว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขณะที่การส่งออกไปตลาดสำคัญ ขยายตัวต่อเนื่องเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะสหรัฐฯ สหภาพยุโรป อาเซียน และจีน ที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2560

สำหรับแนวโน้มปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของประเทศเศรษฐกิจในเอเชีย นอกจากนี้ทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตร และราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย สำหรับสินค้าสำคัญที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีได้แก่ รถยนต์นั่ง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก และแผงวงจรไฟฟ้า

มูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือนธันวาคม การส่งออกมีมูลค่า 642,583 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 659,754 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.7 ส่งผลให้การค้าขาดดุล 17,171 ล้านบาท ไตรมาสที่ 4การส่งออกมีมูลค่า 2,006,999 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0) การนำเข้ามีมูลค่า 1,975,492 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7) และการค้าเกินดุล 31,507 ล้านบาททั้งปี 2560 การส่งออกมีมูลค่า 8,008,374 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1) การนำเข้ามีมูลค่า 7,629,898 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8) และการค้าเกินดุล 378,476 ล้านบาท

มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์ สรอ. เดือนธันวาคม การส่งออกมีมูลค่า 19,741 ดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 20,019 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวตัวร้อยละ 16.6 ส่งผลให้การค้าขาดดุล 278 ล้านดอลลาร์ สรอไตรมาสที่ 4  การส่งออกมีมูลค่า 61,259  (เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7) การนำเข้ามีมูลค่า 59,560 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6) และการค้าเกินดุล 1,699 ล้านบาท ทั้งปี 2560 การส่งออกมีมูลค่า 236,694 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9) การนำเข้ามีมูลค่า 222,763 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7) และการค้าเกินดุล 13,931 ล้านดอลลาร์ สรอ.

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ที่ร้อยละ 6.6 (YoY) โดยสินค้าส่งออกที่ขยายตัวดีได้แก่ ข้าว ขยายตัวร้อยละ 11.0 (ขยายตัวสูงในตลาดบังคลาเทศ แอฟริกาใต้ แคเมอรูน สหรัฐฯ เบนิน และจีนผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 7.92 (ส่งออกไปตลาดนิวซีแลนด์ สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ขยายตัวสูง ขณะที่ตลาดอินโดนีเซียและญี่ปุ่นหดตัว) อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป (ไม่รวมกุ้งขยายตัวร้อยละ 7.4 (ขยายตัวในตลาดเยอรมนี สหรัฐฯ และออสเตรเลีย) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 7.5 (ส่งออกไปตลาดเกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 43.79 (หดตัวเกือบทุกตลาดผลจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลง ขณะที่ตลาดอินโดนีเชีย และมาเลเซีย ยังขยายตัว) กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป หดตัวร้อยละ 12.4 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม ญี่ปุ่น ขณะที่ตลาดไต้หวันและออสเตรเลียยังขยายตัวได้ดี) รวมทั้งปี 2560 กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวร้อยละ 14.4

 

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม 

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ที่ร้อยละ 10.0 (YoY) โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 60.4 (ส่งออกไปตลาดจีน อินเดีย ออสเตรเลียมาเลเซีย และสหรัฐอเมริกาคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบขยายตัวร้อยละ 19.5 (ส่งออกไปตลาดจีน เยอรมนี ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ12.9 (ส่งออกไปตลาดสหราชอาณาจักร เวียดนาม  อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ และจีน ขณะที่ตลาดออสเตรเลียหดตัวเล็กน้อย)  เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 54.1 (ขยายตัวสูงในตลาดญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ เนเธอร์แลนด์สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ทองคำ หดตัวร้อยละ 21.1 (หดตัวในตลาดเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ลาว และกัมพูชา ขณะที่บังคลาเทศที่ขยายตัวสูง)ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 6.68 (หดตัวสูงในตลาดซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ญี่ปุ่น และอินโดนีเซียรวมทั้งปี 2560 กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 9.4

 

ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกไปตลาดสำคัญๆ ขยายตัวเกือบทุกตลาด และการส่งออกไปอินเดียและ CLMV มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักขยายตัวร้อยละ 8.3 ตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยการส่งออกไป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (15) ขยายตัวร้อยละ 10.2 12.6 และ 2.1 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปตลาดศักยภาพสูงยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 9.0  โดยมีสาเหตุสำคัญจากการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องของเอเชียใต้ที่ร้อยละ 51.4 และการส่งออกไปตลาดจีน CLMV และอาเซียน 5 ยังรักษาระดับการขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 8.6 8.8 และ 5.5 ตามลำดับ ด้านตลาดศักยภาพระดับรองฟื้นตัวต่อเนื่องและมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยขยายตัวร้อยละ 7.7 เนื่องจากการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา และกลุ่มประเทศ CIS ที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 8.3 8.0 และ 60.1 ตามลำดับ

ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 10.2 ยังขยายตัวในเกณฑ์ที่ดีใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 10.7 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบฯ อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ และอาหารทะเลแปรรูปฯ เป็นต้น ทั้งปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 8.3

ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 12.6 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 9.5 ในเดือนก่อนหน้า โดยโทรศัพท์และอุปกรณ์ฯนับเป็นสินค้าหลักที่ขับเคลื่อนการขยายตัว ซึ่งในรอบ 15 เดือนที่ผ่านมาขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 307 นอกจากนี้ สินค้าสำคัญอื่นๆ ที่ขยายตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก เหล็กและผลิตภัณฑ์ รถยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลฯ เป็นต้น ทั้งปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 8.9

ตลาดยุโรป ขยายตัวร้อยละ 2.1 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 5.3 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการส่งออกอัญมณีหดตัวสูง อย่างไรก็ตามสินค้าสำคัญยังขยายตัวได้ดี อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ แผงวงจรไฟฟ้า เหล็กและผลิตภัณฑ์ และเนื้อและส่วนต่าง เป็นต้น ทั้งปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 7.6

ตลาดจีน ขยายตัวร้อยละ 8.6 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 16.9 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากฐานที่สูงขึ้นสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เคมีภัณฑ์ รถยนต์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น ทั้งปี 2560 ขยายตัวร้อยละ23.7

ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัวร้อยละ 51.4 และเป็นการขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 20 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน นอกจากนี้การส่งออกไปอินเดียมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ไขมันและน้ำมันฯ อัญมณีและเครื่องประดับ ข้าว อากาศยานและส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 26.6

ตลาดอาเซียน 5 ขยายตัวร้อยละ 5.5 ชะลอลงจากการขยายตัวในอัตราสูงที่ร้อยละ 27.1 ในเดือนก่อนหน้า สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องจักรกลฯ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ทั้งปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 6.0

ตลาด CLMV มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยขยายตัวร้อยละ 8.8 ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 9.6 ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ เม็ดพลาสติก และเครื่องดื่ม เป็นต้น ทั้งปี 2560ขยายตัวร้อยละ 13.1

ตลาดทวีปออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 5.3 โดยการขยายตัวเริ่มปรับเข้าสู่ระดับที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องปรับอากาศฯ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีฯ เป็นต้น ทั้งปี 2560 ขยายตัวร้อยละ3.5

ตลาดตะวันออกกลาง ขยายตัวร้อยละ 8.3 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 3.9 ในเดือนก่อนหน้า และขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง และ เส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น ทั้งปี 2560 หดตัวร้อยละ 1.7

ตลาดเครือรัฐเอกราช (CIS) ขยายตัวร้อยละ 60.1 โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน และขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 91 ในช่วงดังกล่าว โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เหล็กและผลิตภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ เคมีภัณฑ์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เป็นต้น ทั้งปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 64.0

ตลาดลาตินอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 5.4 ปรับตัวดีขึ้นจากหดตัวร้อยละ 10.1 ในเดือนก่อนหน้า สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลฯ เครื่องยนต์สันดาปฯ ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารทะเลแปรรูปฯ เป็นต้น ทั้งปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 1.2  

 

แนวโน้มการส่งออกปี 2561

 

การส่งออกในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่ง IMF คาดว่าในปี 2561 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 นับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี ขณะที่นโยบายทางการเงินโลกเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ (Policy Normalization) มากขึ้น หลังจากเศรษฐกิจในหลายประเทศเติบโตดีขึ้นเพียงพอที่จะลดการพึ่งพามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์โลก จะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าของประเทศคู่ค้าหลัก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ

สำหรับสินค้าสำคัญที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในปี 2561 ได้แก่ รถยนต์นั่ง โดยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของตลาดออสเตรเลีย และความต้องการจากตลาดจีนและรัสเซียเพิ่มขึ้นชัดเจน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามกระแสความต้องการสินค้าและจุดแข็งด้านห่วงโซ่การผลิตภายในประเทศ ผลิตภัณฑ์ยาง ยังมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องตามความต้องการจากจีนและการเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมยางยานพาหนะ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก มีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกขยายตัวต่อเนื่องในตลาดหลักอย่าง สหรัฐฯ จีน และ CLMV แผงวงจรไฟฟ้า มีแนวโน้มขยายตัวตามความต้องการของจีนสูง และการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และ Factory Control


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ม.ค. 2561 เวลา : 21:40:28
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 7:58 pm