เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ Hotel spa โอกาสทางธุรกิจแบบ win-win


ธุรกิจสปาเป็นหนึ่งในธุรกิจที่น่าจับตามองซึ่งมีส่วนช่วยขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวของไทย โดยมูลค่าตลาดของธุรกิจนี้ในไทยมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องราว 8% ต่อปีในช่วงปี 2013-2015 หรือคิดเป็นมูลค่าราว 3.5 หมื่นล้านบาท จัดเป็นอันดับที่16 ของโลกและอันดับที่ 5 ในเอเชีย ทั้งนี้ ธุรกิจสปาเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เวชสำอางและเครื่องหอม เป็นต้น

 

 

อีไอซีแนะผู้ประกอบการโรงแรมและผู้ให้บริการสปาพิจารณาถึงโอกาสในการต่อยอดธุรกิจร่วมกันและสร้างความแตกต่าง โดยผู้ประกอบการโรงแรมจะได้ประโยชน์จากการเพิ่มทางเลือกกิจกรรมที่หลากหลาย ในขณะที่ผู้ให้บริการสปาสามารถขยายธุรกิจในทำเลที่มีศักยภาพ รวมถึงเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์และสร้างการรับรู้ถึงแบรนด์ (brand awareness) ต่อกลุ่มลูกค้า

สปาเป็นหนึ่งในธุรกิจดาวเด่นของอุตสาหกรรมความงามและการดูแลสุขภาพ (wellness industry) ของโลกจากแนวโน้มอัตราการเติบโตที่สูง จากการคาดการณ์ของ Global Wellness Institute (GWI) แสดงให้เห็นว่ามูลค่าตลาดของธุรกิจสปาทั่วโลกมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ยถึง 6% ต่อปี หรือจากมูลค่าตลาดเพียง 1.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สู่ระดับ 1.69 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปี 2015-2020 ซึ่งอัตราการเติบโตดังกล่าวสูงกว่าอัตราการเติบโตของมูลค่าตลาด wellness industry ทั่วโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ยราว 5% ต่อปี หรือจาก 3.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สู่ระดับ 4.9ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเวลาเดียวกัน (รูปที่ 1) โดยการเติบโตของธุรกิจสปามีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจาก 1) จำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ GWI และ CIA World Factbook พบว่าประเทศที่มีมูลค่าตลาดธุรกิจ

สปาใหญ่ที่สุด 20 อันดับแรกของโลกส่วนใหญ่มีระดับอายุเฉลี่ย (median age) ของประชากรสูงกว่า 40 ปี ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มความต้องการใช้บริการสปาที่มากขึ้นจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 2) กลุ่มชนชั้นกลางทั่วโลกมีระดับรายได้ที่สูงขึ้นส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายเงินเพื่อดูแลสุขภาพของตนเองนอกเหนือจากการใช้จ่ายเพื่อดำรงชีวิตประจำวัน และ 3) วิถีชีวิตที่เร่งรีบของกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งก่อให้เกิดความเครียด

 

 

มูลค่าตลาดธุรกิจสปาในไทยมีการเติบโตถึงราว 8% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วโลก หรือขยายตัวจากระดับประมาณ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2013 มาอยู่ที่ราว3.5 หมื่นล้านบาทในปี 2015 สูงเป็นอันดับที่ 16 ของโลกและเป็นอันดับที่ 5 ของเอเชีย เป็นรองเพียงจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และอินเดีย โดยกลุ่มลูกค้าหลักคือนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออก เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ทั้งนี้ จากการประมาณการโดย GWI คาดว่ามูลค่าตลาดของ wellness tourism ทั่วโลกจะเติบโตราว 7% ต่อปีในช่วงปี 2015-2020 จากมูลค่า 19 ล้านล้านบาทเป็น 27 ล้านล้านบาท ซึ่งคาดว่าธุรกิจสปาในไทยจะได้ประโยชน์จากแนวโน้มการเติบโตนี้

Hotel spa เป็นหนึ่งในรูปแบบการดำเนินธุรกิจสปาที่น่าจับตามองและมีแนวโน้มเติบโตสูง รูปแบบธุรกิจสปาที่ได้รับความนิยมในไทยมี 3 รูปแบบตาม ได้แก่ 1)day spa เป็นรูปแบบสปาที่พบเห็นได้แพร่หลายมากที่สุด มักตั้งอยู่ในแหล่งชุมชน อาคารสำนักงานหรือห้างสรรพสินค้า เน้นการทำทรีตเมนต์ในระยะเวลาตั้งแต่ 30-210 นาทีโดยไม่มีการค้างคืน ตัวอย่างเช่น PAÑPURI Wellness , HARNN Heritage Spa และ Let’s Relax เป็นต้น 2) destination spa สปาที่ให้บริการดูแลสุขภาพอย่างครบวงจรพร้อมห้องพักแก่ลูกค้า โดยลูกค้าสามารถเลือกระยะเวลาการเข้าพักและบริการที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านสุขภาพของตนเองได้ตามต้องการ ส่วนใหญ่จะมีระยะเวลาการเข้าพักและรับบริการตั้งแต่ 3-28 วัน สปารูปแบบนี้มักตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวที่มีทัศนียภาพสวยงาม ยกตัวอย่างเช่น ชีวาศรม และอมันปุรี เป็นต้น และ 3) hotel spa เป็นสปาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของโรงแรม ลักษณะการให้บริการจะคล้ายกับ day spa โดย hotel spa ในไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก ได้แก่ Banyan Tree Spa และ Kempinski the Spa ทั้งนี้hotel spa นับเป็นหนึ่งในรูปแบบสปาที่น่าจับตามอง เนื่องจากมีแนวโน้มเติบโตตามภาคการท่องเที่ยวของไทยที่ยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความหลากหลายของกิจกรรมให้แก่นักท่องเที่ยวและช่วยเสริมประสิทธิภาพการสร้างรายได้ให้แก่โรงแรม

 

 

Hotel spa ช่วยเสริมจุดแข็งให้ธุรกิจโรงแรม สะท้อนจาก RevPAR ที่สูงกว่าโดยเปรียบเทียบและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจบริการสปาและผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เวชสำอาง จากข้อมูลของ CBRE Hotels พบว่าโรงแรมในสหรัฐฯ ที่มีบริการสปาจะมีระดับรายได้ต่อห้องพักทั้งหมด (Revenue per Available Room, RevPAR) สูงกว่าโรงแรมที่ไม่มีสปาอยู่ราว 27% สำหรับโรงแรมในเขตเมือง และ 10% สำหรับที่พักแบบรีสอร์ท (รูปที่ 2) เนื่องจากโรงแรมสามารถขึ้นค่าห้องพักได้สูงกว่า ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถสร้างกระแสเงินสดและรายได้ประจำให้แก่โรงแรมจากฐานลูกค้าที่สมัครสมาชิกเพื่อใช้บริการสปา รวมถึงสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโรงแรมในด้านภาพลักษณ์อีกด้วย ทั้งนี้ hotel spa ที่มีรูปแบบการให้บริการที่แตกต่างสามารถสร้างจุดเด่นให้โรงแรมได้ เช่น Zen Zone Spa ของโรงแรม 5 ดาว Gran Hotel la Floridaในบาร์เซโลน่าที่นำเสนอบริการให้ลูกค้าได้พักผ่อนในห้องออกซิเจนบริสุทธิ์ 99.5% ภายใต้แสงสีฟ้าเพื่อบำบัดความเครียดและกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย หรือ K-Spa ของโรงแรม K-West Hotel & Spa ในลอนดอนที่ให้บริการสปาด้วยอุณภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งสลับกับการอบซาวน่าเพื่อช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต ลดเซลลูไลท์และเสริมสร้างระบบภูมิต้านทานให้ร่างกาย ซึ่งเป็นศาสตร์ hot-and-cold therapy ของฟินแลนด์ ในอีกด้านหนึ่ง hotel spa สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจบริการสปาสามารถขยายฐานลูกค้าได้กว้างขึ้นโดยการขยายธุรกิจสปาในโรงแรม เนื่องจากโรงแรมระดับ 4-5 ดาวส่วนใหญ่มักตั้งอยู่ในทำเลที่ดีประกอบกับแขกที่เข้าพักส่วนใหญ่มีกำลังซื้อสูง โดยผู้ประกอบการสปาที่มีความเชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์เวชสำอางและเครื่องหอมยังสามารถประชาสัมพันธ์สินค้าของตนเองผ่านการใช้งานจริงกับลูกค้าที่ใช้บริการสปา เพื่อเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์และสร้างการรับรู้ (brand awareness) ต่อกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น

เครือธุรกิจโรงแรมระดับโลกเดินเกมธุรกิจสู่อุตสาหกรรม wellness industryด้วยกลยุทธ์การควบรวมกิจการและสร้างความร่วมมือกับธุรกิจสปาและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ กลุ่ม Hyatt Hotels & Resorts ได้เข้าซื้อกิจการ Miraval Group และExhale ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม wellness industry ที่มีชื่อเสียงในสหรัฐฯ ด้วยเงินลงทุนกว่า 375 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2017 โดยเครือ Hyatt มีแผนที่จะขยายธุรกิจของ Miraval และ Exhale ใน spa หลายรูปแบบ รวมถึง fitness center ในอนาคตเพื่อรองรับความต้องการของแขกที่เข้าพัก นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจโรงแรมยังสามารถสร้างพันธมิตรกับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เวชสำอางที่มีชื่อเสียงระดับโลกเพื่อดึงดูดแขกที่เข้าพักรวมถึงลูกค้าจากภายนอกเข้ามาใช้บริการสปา เช่น โรงแรม Hôtel Plaza Athénée ในกรุงปารีสที่ร่วมมือกับ Parfums Christian Dior เพื่อนำแบรนด์สปาอย่าง Dior Institut ไปเปิดให้บริการภายในโรงแรม หรือ Hotel Sahrai ในเมืองแฟ็ส (Fez) ประเทศโมร็อกโกที่ร่วมมือกับ Givenchy Parfums เพื่อให้บริการสปาภายใต้แบรนด์ Givenchy Spa ซึ่งช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ความหรูหราของโรงแรมทั้งสองแห่งได้เป็นอย่างดี

 

 

อีไอซีแนะผู้ประกอบการโรงแรมควรพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการเพิ่มพื้นที่ให้บริการสปาภายในโรงแรม โดยอาจบริหารธุรกิจสปาด้วยตนเองเพื่อควบคุมต้นทุนและคุณภาพในการให้บริการสปาได้แต่อาจมีภาระเพิ่มเติมในด้านการฝึกอบรมพนักงาน โมเดลธุรกิจลักษณะนี้เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่มีเงินลงทุนพอสมควร หรืออาจร่วมมือกับผู้ประกอบการธุรกิจสปาให้ลงทุนขยายการให้บริการภายในพื้นที่ของโรงแรม (outsource) เพื่อให้บริการแก่แขกที่เข้าพักรวมถึงลูกค้าในบริเวณใกล้เคียง ผู้ประกอบการที่ไม่ต้องการบริหารธุรกิจสปาด้วยตนเองหรือมีเงินลงทุนไม่มากนักอาจเลือกใช้โมเดลธุรกิจลักษณะนี้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของแขกที่เข้าพัก

ผู้ประกอบการสปาควรพิจารณาการขยายธุรกิจไปสู่ hotel spa เพื่อสร้างฐานลูกค้ากลู่มที่มีศักยภาพให้แข็งแกร่งขึ้น เนื่องจากโรงแรมระดับ 4-5 ดาวส่วนใหญ่มักตั้งอยู่ในทำเลที่ดี และแขกที่เข้าพักส่วนใหญ่มีกำลังซื้อสูงจึงสามารถขยายฐานลูกค้าที่มีศักยภาพได้กว้างขึ้นนอกจากนี้ ยังสามารถสร้างโอกาสในการประชาสัมพันธ์และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เวชสำอางของตนแก่ลูกค้าเพื่อเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้

ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เวชสำอางและเครื่องหอมมีโอกาสขยายธุรกิจโดยร่วมมือกับผู้ประกอบการโรงแรมเพื่อต่อยอดสร้างธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสปาในอนาคต โดยอาจเริ่มจากการรับจ้างผลิตเวชสำอางขั้นพื้นฐานที่ใช้ในโรงแรม เช่น สบู่ แชมพู ครีมนวดผม เป็นต้น ภายใต้ตราสินค้าหรือแบรนด์ของโรงแรม โดยสามารถต่อยอดธุรกิจดังกล่าวไปสู่การผลิตเครื่องหอมและผลิตภัณฑ์เวชสำอางที่ใช้ในสปาของโรงแรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ม.ค. 2561 เวลา : 17:02:05
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 3:54 pm