เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
'ซีอีโอ' เชื่อมั่นเศรษฐกิจโลกปีนี้ 'ฟื้นตัว'


ผลสำรวจความเชื่อมั่นซีอีโอโลก พบผู้นำธุรกิจทั่วโลกเกินกว่าครึ่ง หรือ 57% มีความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้  ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 6 ปี  

     

   

 

นายศิระ  อินทรกำธรชัย  ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความเชื่อมั่นซีอีโอโลก หรือ Global CEO Survey ครั้งที่ 21 ของ PwC ที่ใช้ในการประชุมสมัชชาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) กรุง ดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ประจำปี 2561 ที่ผ่านมา โดยสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงจำนวนทั้งสิ้น 1,239 คนใน 85 ประเทศ ซึ่งพบว่า  ความเชื่อมั่นของซีอีโอโลกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของรายได้บริษัทในปีนี้สูงขึ้นจากปีก่อน  โดยพบว่า ผู้บริหารทั่วโลกถึง 57% เชื่อว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อนเกือบเท่าตัว จากปี 2560 ที่ 29%  และยังเป็นการเพิ่มขึ้นที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555

 

          

 

ด้าน นายบ็อบ  มอริตซ์   ประธาน บริษัท PwC โกลบอล กล่าวว่า "ความเชื่อมั่นของซีอีโอต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกในปีนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยสัญญาณของความแข็งแกร่งจากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายๆ ตัว    นอกจากนี้ ภาวะตลาดหุ้นที่กลับมาคึกคัก และการคาดการณ์จีดีพีในตลาดหลักๆ หลายแห่งของโลกที่คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้น จึงทำให้ไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมซีอีโอทั่วโลกต่างพากันแสดงความมั่นใจมากต่อการเติบโตในปีนี้"          

ทั้งนี้ จากมุมมองเชิงบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกนี่เอง ทำให้ 42% ของผู้นำธุรกิจทั่วโลกยังแสดงความมั่นใจมากต่อการเติบโตของรายได้ (Revenue growth) ของบริษัทในอีก 12 เดือนข้างหน้า ขยับจากปีก่อนที่ 38%   โดย 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ซีอีโอแสดงความมั่นใจมากที่สุดว่ารายได้ปีนี้จะเพิ่มขึ้น ได้แก่ เทคโนโลยี (48%)   บริการทางธุรกิจ (46%)    และ เภสัชกรรมและชีววิทยาศาสตร์ (46%)        

แต่ปัจจัยที่สร้างความกังวลให้กับผู้บริหารก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน  โดยผลสำรวจพบว่า 3 อันดับปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของรายได้และสร้างความกังวลให้แก่ซีอีโอโลกมากที่สุด ได้แก่ อันดับที่ 1 กฎระเบียบที่เข้มงวดมากเกินไป (42%)   อันดับที่ 2 การก่อการร้าย (41%) และอันดับที่ 3 ความไม่แน่นอนทางภูมิศาสตร์การเมือง และ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ (40% เท่ากัน) โดยความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการก่อการร้ายนั้น  ยังถือเป็นประเด็นที่ผู้นำธุรกิจทั่วโลกกังวลเป็นอย่างมากในปีนี้ โดยความกังวลขยับขึ้นเป็นเท่าตัวจากปีก่อน (20% ในปี 2560) และยังไต่ระดับจากอันดับที่ 12 ในปีก่อนมาอยู่ที่อันดับ 2 ในปีนี้         

นาย ศิระ กล่าวเสริมว่า  เมื่อวิเคราะห์ถึงความเชื่อมั่นของซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปก ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและการเพิ่มขึ้นของรายได้บริษัทในปีนี้นั้น พบว่ามีทิศทางเช่นเดียวกับซีอีโอโลก โดยผู้นำธุรกิจเอเปกถึง 60% เชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะดีกว่าปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวจากปีที่ผ่านมาที่ 28% ขณะที่ 44% ของผู้นำธุรกิจเอเปก เชื่อมั่นว่า รายได้ของบริษัทปีนี้จะดีกว่าปีก่อนเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ 37%          

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นภัยคุกคามธุรกิจในสายตาซีอีโอเอเปก 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ (52%) ตามด้วยอันดับที่ 2 เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (51%) และอันดับที่ 3 ภัยก่อการร้าย (46%)          

"การลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ถือเป็นเรื่องที่ธุรกิจยุคนี้ต้องไม่มองข้าม เพราะไม่เช่นนั้น จะสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับคู่แข่ง หรือผู้เล่นรายใหม่ ที่เปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงและเร่งลงทุนเพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพมากกว่า นอกจากนี้ เรามองว่า การพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถด้านดิจิทัลและทักษะสะเต็มของพนักงาน จะเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยดึงศักยภาพแฝงของพนักงานออกมาช่วยพัฒนาองค์กรให้เติบโตได้" นาย ศิระ กล่าวทิ้งท้าย


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ก.พ. 2561 เวลา : 00:15:07
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 8:08 am