แบงก์-นอนแบงก์
ผู้ว่าธปท.ยันพื้นฐานศก.ไทยแข็งแกร่ง รองรับตลาดเงิน-ตลาดทุนผันผวนได้


ผู้ว่า ธปท. ย้ำพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งรองรับผันผวนตลาดเงินตลาดทุนโลกผันผวนได้ พร้อมเตือนนักลงทุนอย่าชะล่าใจยามตลาดผันผวนต่ำ ระบุให้นึกถึง Market correction เป็นบทเรียน

  


 

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในขณะนี้เริ่มฟื้นตัวชัดเจน และเริ่มกระจายตัวมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานยังแข็งแกร่ง จึงเชื่อว่ายังสามารถรองรับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้า ภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากปัจจุบัน ไทยมีมีความแข็งแกร่งหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจไทยพึ่งพาเงินต่างประเทศในระดับต่ำ หรือ ปัจจุบันอยู่ที่ 36% ของจีดีพีเท่านั้น สภาพคล่องเงินตราต่างประเทศ และดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลในระดับสูงถึง 10.8% เงินสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูง

ขณะนี้ภาคสถาบันการเงินยังแข็งแกร่ง เห็นได้จากเงินสำรองต่อสินทรัพย์เสี่ยง เงินสำรองพึงกันยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนถึงความแข็งแกร่งในภาคสถาบันการเงินยังมั่นคง รวมถึงการดำรงแหล่งที่มาของเงินให้สอดคล้องกับที่ใช้ไป เพื่อให้สถาบันการเงิน รองรับสภาพคล่องที่อาจจะตึงตัวเป็นเวลานานได้ นอกจากนี้สถาบันการเงินยังดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์ด้านธรรมาภิบาลและการตรวจสอบความเสี่ยงอย่างเหมาะสมด้วย

“ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เราเห็นตลาดหุ้นทั่วโลก เกิด Market correction หรือ ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น เกินกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เป็นเครื่องเตือนใจให้กับนักลงทุนว่า อย่าชะล่าใจในยามที่ตลาดมีความผันผวนน้อยหรือความเสี่ยงต่ำ จะต้องพิจารณาถึงปัจจัยพื้นฐาน ของเศรษฐกิจหรือการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ”นายวิรไท กล่าว

นอกจากนี้ สิ่งที่นักลงทุนจะต้องระมัดระวังเสมอ คือความผันผวนที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ประกอบกับ สถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรของสหรัฐที่ยังอยู่ในระดับสูง และเร็วกว่าที่คาดนั้น อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องพึ่งพาเงินตราจากต่างประเทศ ดังนั้นผู้ประกอบการ นักลงทุนจะต้องเข้าใจและบริหารความเสี่ยงทางการเงินอย่างเหมาะสม

นายวิรไท กล่าวถึงกรณีที่หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องนั้น ยืนยันว่า ประเทศไทยคงไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยตามในทันที เพราะในแต่ละประเทศมีพื้นฐานของเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ส่งผลให้การดำเนินนโยบายทางการเงินจำเป็นต้องแตกต่างกันเช่นเดียวกัน และจะต้องคำนึงถึงปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก

ส่วนแนวคิดที่สมาคมธนาคารไทยต้องการรวมตู้เอทีเอ็ม และทำ Banking Agent มองว่าเป็นการช่วยลดต้นทุนให้กับภาคสถาบันการเงิน และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชนเป็นอย่างมากซึ่งถือเป็นการลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน เช่นเดียวกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ หากเราสามารถลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนได้ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้ในประเทศมีต้นทุนในการทำธุรกิจ หรือ การลงทุนที่ต่ำลง และคนที่จะได้ประโยชน์สูงสุด คือ ประชาชน


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ก.พ. 2561 เวลา : 12:12:48
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 11:27 am