เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
บตท. แถลงผลงานปี 2560 นำแผน 2561 มุ่งสู่ 'องค์กรยั่งยืน


บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) รัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลัง แถลงผลงานปี 2560 ภายหลังปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจและกระบวนการภายในเพื่อรองรับการแก้ไขกฎหมายขยายธุรกรรม สามารถซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อโดยการรับจำนอง เช่าซื้อ หรือ ให้เช่าแบบลิสซิ่ง  เร่งปรับกระบวนการบริหารจัดการพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามดูแลและแก้ไขสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างใกล้ชิด  วางแผนปี 2561 ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว 10 ปี อย่างเป็นรูปธรรม และลดความเสี่ยงในช่วงดอกเบี้ยผันผวนที่มีแนวโน้มขาขึ้น  นอกจากนี้ ยังร่วมกับธนาคารพันธมิตร เพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าของ บตท. ได้เข้าถึงแหล่งสินเชื่อเพิ่มขึ้น  มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้านที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้นและสร้างองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน 

 


 

นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์  กรรมการและผู้จัดการ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.)  เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2560  "ปีที่ผ่านมา บตท. มีกำไรจากการดำเนินงาน 143 ล้านบาท  ก่อนกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ เพื่อสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีกำไรสุทธิ 27.4 ล้านบาท  มีสินทรัพย์รวม  20,161  ล้านบาท  BIS Ratio เท่ากับ 9.38% บตท. มีการระดมทุนโดยการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ หรือออกตราสารหนี้ MBS หรือ 

"Mortgage Backed Securities" ปัจจุบันมียอดตราสารหนี้คงค้างภายใต้โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) รวมมูลค่า 19,325.11 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา บตท. ได้รับการจัดอันดับเครดิตองค์กรและตราสารที่ AA-/Stable จาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด มีการออกพันธบัตรอายุ  3 ปี  มูลค่า 1,000 ล้านบาท  อัตราดอกเบี้ย 2.15% ขายนักลงทุนประเภท

นักลงทุนรายใหญ่ และ/หรือนักลงทุนประเภทสถาบัน ซึ่งให้ความสนใจลงทุนเป็นจำนวนมากถึง 2.6 เท่า และมียอดพันธบัตรคงค้าง รวมมูลค่า 6,100 ล้านบาท  หน้าที่หลักของ บตท. คือการระดมทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยใช้สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพหนุนหลังการออกตราสารหนี้ ส่งให้การเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยได้อย่างทั่วถึง มีบ้านเป็นของตัวเองและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น"  


ในปี 2560  เป็นปีที่ บตท. มีการปรับกลยุทธ์และรูปแบบทางธุรกิจ  บตท. ได้ชะลอการจัดซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากแนวโน้มของหนี้ด้อยคุณภาพที่มีอัตราสูงขึ้น  ปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการสินเชื่อที่อยู่อาศัย  และกระบวนการทำงานภายใน เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นรวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมในการขยายธุรกรรมในอนาคต นอกจากนี้ได้มีการแก้ไขกฎหมายในการทำธุรกรรมเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ทำให้ บตท. สามารถซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากบริษัทที่ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อโดยการรับ

จำนองอสังหาริมทรัพย์ ให้เช่าซื้อ หรือ ให้เช่าแบบลิสซิ่งเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ซื้อจากธนาคาร สถาบันการเงิน และบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือ Developer  นับว่าเป็นประโยชน์มากสำหรับประชาชน เพราะจะเป็นการเพิ่มทางเลือกและเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อที่อยู่อาศัยของประชาชนได้มากขึ้น   ซึ่งสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ ในการมุ่งเน้นดำเนินงาน

ตามพันธกิจ เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินให้แก่ประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินเชิงพาณิชย์ได้ 

ปีที่ผ่านมา บตท. ได้ดำเนินตามพันธกิจและได้ผลตอบรับที่น่าพอใจ ทั้งในด้านส่งเสริมธุรกรรมตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยมีการลงนามความร่วมมือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) เพื่อพัฒนาธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย เช่น  การร่วมกันจำหน่ายทรัพย์สินรอการขาย 

(Non-Performing Asset) และการอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า บตท. ที่ประกอบธุรกิจ SME ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อประกอบธุรกิจจาก SME Development Bank ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น สำหรับด้านการปรับกระบวนการภายใน บตท. ได้ปรับหลักเกณฑ์มาตรฐานในการจัดซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัย  การปรับปรุงนโยบายและมาตรการติดตามแก้ไขหนี้ตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย การจ้างผู้รับจ้างภายนอก (Outsource) ช่วยในการเร่งรัดติดตามหนี้ การพัฒนาระบบการติดตามหนี้ รวมถึงการปรับระบบตัดชำระเงินกู้แบบใหม่ เป็นการช่วยให้ลูกค้าให้ได้รับประโยชน์มากขึ้น จากการตัดดอกเบี้ยและเงินต้นในแต่ละงวด  

ในปี 2561 บตท. วางแผนขับเคลื่อนองค์กรภายใต้ 2 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1) สร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน เพื่อให้องค์กรดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน แม้ว่า บตท. เคยจัดตั้งมาเพื่อแก้ปัญหาในช่วงที่ระบบเศรษฐกิจขาดสภาพคล่องในการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย และในปัจจุบันไม่มีปัญหาดังกล่าวแล้ว แต่ตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยควรจะทำหน้าที่เป็นผู้เสริมสร้างสภาพคล่องให้กับผู้ที่ให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยขยายการทำธุรกรรมกับผู้ที่ต้องการสภาพคล่องระยะยาว  2) พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการภายใน เพื่อให้องค์กรมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย มีระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน รวดเร็ว ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 และแผนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ส่งเสริมความรู้ระบบ E-Learning ทั้งภายในและภายนอกองค์กร รวมถึงการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจทางการเงิน โดยเฉพาะธุรกรรมตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Financial Literacy) ให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้ง ช่วยสร้างความเข้าใจให้ประชาชนทั่วไปมีวินัยทางการเงิน โดยยึดหลักการดำเนินงานด้วยความโปร่งใส มีคุณธรรม จริยธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม ภายใต้หลักธรรมาภิบาลและการกำกับดูแลกิจการที่ดี       

นางวสุกานต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในปี 2561 นี้ บตท. ยังเดินหน้าโครงการความร่วมมือกับธนาคารพันธมิตร เพื่อเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อบ้าน TOP Up  ให้กับลูกค้า  เนื่องจาก บตท. เป็นตลาดรอง  ไม่สามารถให้สินเชื่อกับลูกค้าโดยตรง  จึงถือเป็นการเพิ่มช่องทางและพัฒนาการบริการรองรับความต้องการของลูกค้าและลดข้อจำกัดของ บตท. ที่ไม่สามารถให้สินเชื่อได้ และในเดือนกุมภาพันธ์นี้ บตท. จะช่วยให้ลูกค้าของ บตท. สามารถเลือกที่จะป้องกันความเสี่ยงจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและความเสี่ยงจากความผันผวนของดอกเบี้ย โดยลูกค้าที่มีประวัติการผ่อนชำระดี สามารถเข้าร่วมโครงการอัตราดอกเบี้ยคงที่ 10 ปีได้ ซึ่งถือเป็นการเสนออัตราดอกเบี้ยยาวถึง 10 ปี เป็นครั้งแรกของ บตท. นอกจากนี้ ยังได้มีความมุ่งมั่นที่จะใช้ประโยชน์จากการจัดหาเงินทุนระยะยาว ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อบ้านดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว 10 ปี ร่วมกับธนาคารภาครัฐ เพื่อช่วยให้ประชาชนวางแผนการผ่อนบ้านในอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว  เป็นการลดความเสี่ยงในช่วงภาวะดอกเบี้ยผันผวน ปี 2561  บตท. มีแผนจัดซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งจากธนาคาร และกลุ่มที่ เป็นสถาบันการเงินแต่ไม่ใช่ธนาคาร รวมถึงผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ มูลค่ารวม 9,000 ล้านบาท  สำหรับแผนการระดมทุน บตท. จะปรับสัดส่วนการระดมทุนระยะสั้นและระยะยาวให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น  สำหรับการออกตราสารหนี้เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์นั้น  คาดว่าจะมีการระดมทุนจากตลาดทุนอย่างต่อเนื่องตามปริมาณสินเชื่อในพอร์ตและสถานการณ์ตลาดตราสารหนี้     

นอกจากนี้ บตท. มีแผนปรับปรุงกระบวนการทำงาน และขั้นตอนการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ หรือตามมาตรฐาน ISO 27001  การพัฒนาระบบงานที่สำคัญเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ  การพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ  รวมถึงการเตรียมความพร้อมรองรับมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ (IFRS 9) ในปี 2562 นี้ โดยจะมุ่งมั่นดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ขององค์กรและประเทศให้บรรลุตามเป้าหมาย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ก.พ. 2561 เวลา : 18:42:08
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 9:57 am