แบงก์-นอนแบงก์
ธนาคารกรุงเทพ ต่อยอดความสำเร็จ 'วิถีเกษตรก้าวหน้า'


ธนาคารกรุงเทพ ต่อยอดโครงการ ‘เกษตรก้าวหน้า’ สานต่อความสำเร็จ จัดสัมมนาถ่ายทอดประสบการณ์การจัดการที่ดี พร้อมสร้างต้นแบบ “วิถีเกษตรก้าวหน้า” ดึงตัวอย่างความสำเร็จถ่ายทอดเคล็ดลับสู่ความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

 

 

 

นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินโครงการ ‘เกษตรก้าวหน้า’ ซึ่งจัดโดยธนาคารกรุงเทพมานานเกือบ 20 ปีว่า ธนาคารมีแผนสานต่อโครงการดังกล่าวโดยมุ่งนำเสนอ “วิถีเกษตรก้าวหน้า” ที่จะสรรหาต้นแบบของเกษตรกรหรือบุคคลที่เป็นตัวอย่างของการนำความรู้มาประยุกต์ใช้จนประสบความสำเร็จ เพื่อถ่ายทอดวิธีการและเคล็ดลับที่จะทำให้เกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้เพื่อสร้างเป็นวิถีแนวทางของตนเองที่จะก่อให้เกิดความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน 

ล่าสุด ธนาคารได้จัดสัมมนาเรื่อง “การจัดการที่ดี ตามวิถีเกษตรก้าวหน้า” โดยได้รับเกียรติจากคุณกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง เกษตรไทย 4.0’ นอกจากนี้ ธนาคารได้เชิญเกษตรกรก้าวหน้า 3 รายมาร่วมแบ่งปันเคล็ดลับสู่ความสำเร็จ ในหัวข้อ ‘การจัดการให้เป็น คือหัวใจของความสำเร็จ’ ประกอบด้วย คุณยศวัฒน์ ศิริอธิพันธ์ บรรยายเรื่อง การจัดการผลผลิตพริกคุณภาพ เพื่ออุตสาหกรรม’ คุณบัลลพ์กุล ทิพย์เนตร บรรยายเรื่อง การจัดการอุตสาหกรรมนมโค และคุณศักดิ์ดา ขันติพะโล บรรยายเรื่อง การจัดการสหกรณ์มะม่วงส่งออก ที่มีชื่อเสียงของไทย โดยมี ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี นายกสมาคมนิสิตเก่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย 

ธนาคารกรุงเทพได้ให้การสนับสนุนภาคการเกษตรของไทยมานานกว่า 50 ปี และจะยังคงบทบาทช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้นต่อไป เพราะการเกษตรจะยังคงเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศไทย ทั้งเชื่อมั่นว่า หากภาคการเกษตรของไทยเข้มแข็งประเทศไทยจะสามารถเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยผลจากการกระจายผลประโยชน์ต่างๆ ไปยังประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ” นายเดชา กล่าว

ทั้งนี้ แนวคิดในการต่อยอดโครงการดังกล่าว จะมุ่งสนับสนุนให้เกษตรกรเพิ่มบทบาทของตนเองในทุกขั้นตอนการจัดการของกระบวนการผลิตการจัดการขาย และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ทำให้ผลผลิตสอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในด้านคุณภาพ ปริมาณ และเวลา ซึ่งจะส่งผลให้สามารถขายสินค้าได้ราคาที่ดีขึ้น และด้วยแนวทางนี้จะช่วยยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้เติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน

 

จากประสบการณ์ที่ธนาคารดำเนินโครงการนี้มาเกือบ 20 ปี พบว่า “ความรู้” เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกษตรกรเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพและเข้มแข็ง ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ตั้งต้นในการดำเนินโครงการนี้โดยอดีตประธานกรรมการบริหาร “คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” ในปี 2542 ที่ผ่านมาจึงเน้นการเผยแพร่ความรู้ให้แก่เกษตรกรในทุกมิติ ทั้งความรู้ด้านการเกษตร การจัดการตลาด การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกัน และความรู้ด้านการบริหารจัดการการเงิน

 

นายศักดิ์ดา ขันติพะโล ประธานสหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา จำกัดซึ่งเป็นผู้นำเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนมะม่วงในจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ได้นำแนวคิดการบริหารจัดการมาประยุกต์ใช้ 4 เรื่องหลัก เรื่องแรก คือการลดต้นทุน โดยให้สหกรณ์เป็นผู้ซื้อปัจจัยการผลิต ซึ่งซื้อในปริมาณมากและมีอำนาจต่อรองได้มากกว่า ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงถึง 30% เรื่องที่สองคือ การดูแลคุณภาพที่ทุกคนต้องยึดเกณฑ์มาตรฐานร่วมกัน เช่น การตรวจสารตกค้าง 15 วันก่อนเก็บ ผลมะม่วงต้องสุก 80-90% และผ่านการทดสอบโดยการจมน้ำ เป็นต้น เรื่องที่สาม คือการจัดการแรงงาน ที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ขนาดของสวนควรพอดีกับความสามารถที่จะบริหารงานได้ มิฉะนั้นจะเจอปัญหาแรงงานหายากและราคาแพง และเรื่องสุดท้าย คือต้องรู้จักสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสหกรณ์ได้นำเทคโนโลยี QR Code มาใช้ซึ่งผู้บริโภคสามารถใช้สมาร์ทโฟนสแกนเพื่อตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับของมะม่วงแต่ละลูกได้ เช่น ผู้ผลิต แหล่งผลิต กระบวนการปลูก การดูแล วันที่พร้อมบริโภค เป็นต้น ทำให้มะม่วงของสหกรณ์มีความน่าเชื่อถือและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม เปลี่ยนจากการขายแบบชั่งกิโล มาเป็นการบรรจุกล่องเพื่อมอบเป็นของขวัญให้ผู้อื่นได้ด้วย 

ข้อมูลเพิ่มเติม : “โครงการเกษตรก้าวหน้า” ริเริ่มและดำเนินการโดยธนาคารกรุงเทพ ตั้งแต่ปลายปี 2542 โดยตระหนักถึงความสำคัญของภาคเกษตร ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย ธนาคารจึงดำเนินโครงการฯ โดยมุ่งสร้างศักยภาพด้านการผลิต ให้เป็นที่ยอมรับควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกษตรกรสร้างความเข้มแข็งในระบบทางการตลาด รวมถึงสร้างสายสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกลุ่มพ่อค้า ทั้งภายในประเทศและก้าวขึ้นสู่ตลาดสากล ตามแนวคิดริเริ่มของท่านอดีตประธานกรรมการบริหาร คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์


LastUpdate 22/03/2561 15:18:10 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 9:01 am