เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ร่างพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....


นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการและอนุมัติร่างพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (ฉบับที่ ..) .. .... (ร่างพระราชบัญญัติฯ) ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา .. 2551 (พระราชบัญญัติฯ) ที่ใช้บังคับ อยู่ในปัจจุบัน เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคและข้อบกพร่องที่เป็นข้อจำกัดในการทำธุรกรรมภายใต้พระราชบัญญัติฯ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินการในขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยประเด็นของร่างพระราชบัญญัติฯ ที่แก้ไข มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 

1.  แก้ไขขอบเขตการใช้พระราชบัญญัติฯ ให้ครอบคลุมการทำธุรกรรมที่หลากหลายมากขึ้น โดยดำเนินการ

1.1 แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่าคู่สัญญาเพื่อให้คู่สัญญาต่างตอบแทนทุกประเภทสามารถทำสัญญาดูแลผลประโยชน์ตามพระราชบัญญัติฯ นี้ได้

1.2 ขยายขอบเขตหน้าที่ของผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาจากปัจจุบันที่ต้องทำหน้าที่ดูแลรักษาทั้งเงิน ทรัพย์สินหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ตามที่คู่สัญญาได้ส่งมอบให้ (เช่น การซื้อขายบ้าน เป็นต้น) เป็นให้สามารถทำหน้าที่ดูแลรักษาเฉพาะเงิน (เช่น การซื้อขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น) ทรัพย์สินหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งตามความต้องการของคู่สัญญาได้ (เช่น การแลกเปลี่ยนหุ้นระหว่างสองบริษัท และการดูแลรักษา Source Code เป็นต้น) ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักสากลทั่วไป

2. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมซื้อขายห้องชุด เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดบันทึกเป็นหลักฐานว่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทห้องชุดนั้นอยู่ภายใต้บังคับแห่งสัญญาดูแลผลประโยชน์ และห้ามจดทะเบียนโอนสิทธิในทรัพย์สินนั้นจนกว่าจะได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาเช่นเดียวกับการซื้อขายบ้านและที่ดิน

3. แก้ไขบทบัญญัติการออกหลักฐานการฝากเงินหรือโอนเงิน ตลอดจนการปิดบัญชีดูแลผลประโยชน์ เพื่อให้สอดรับกับพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน

4. การเพิ่มอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ให้สามารถกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อพิจารณาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น 

5. การเพิ่มบทกำหนดโทษทางปกครองของผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญากรณีฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามที่คณะกรรมการกำกับการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ประกาศกำหนด เช่น กรณีคิดค่าตอบแทนเกินกว่าที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และกรณีไม่ออกหลักฐานรับรองการฝากเงินให้กับคู่สัญญาฝ่ายที่ต้องชำระเงินเป็นต้น

 


 

นอกจากนี้ นางสาวกุลยาฯ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างพระราชบัญญัติฯ ที่กระทรวงการคลังเสนอเพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเป็นชอบในหลักการดังกล่าว นอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาอุปสรรคหรือข้อบกพร่องที่เป็นข้อจำกัดของพระราชบัญญัติฯ ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยผลักดันและเป็นทางเลือกในการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงินให้กับประชาชน เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากพระราชบัญญัติฯ ที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นการซื้อขายห้องชุด ซึ่งจะช่วยขยายผลนำไปสู่การขยายขอบเขตการทำธุรกรรมที่เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นในอนาคต


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 เม.ย. 2561 เวลา : 16:36:40
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 12:16 pm