คุณภาพชีวิต
กรมสุขภาพจิต หนุนผู้สูงวัยสร้าง 'สุข 5 มิติ' ส่งเสริมสุขภาพจิตดี มีคุณค่า ลดการพึ่งพิง


กรมสุขภาพจิต สนับสนุนให้ชมรมผู้สูงอายุทั่วประเทศ จัดกิจกรรมสร้างสุข 5 มิติให้ผู้สูงอายุครบถ้วนทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคมความคิด ความจำ และการปรับตัว เพื่อให้มีสุขภาพจิตดีปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิตและพึ่งพิงตนเองได้มากที่สุด ปีนี้ตั้งเป้าดำเนินการร้อยละ 50 หรือจำนวน13,196 แห่ง พร้อมทั้งเตรียมประเมินคุณภาพชีวิตและความสุขโดยรวมผู้สูงอายุครั้งแรกทั่วไทยในเดือนพ.. 2561 เพื่อพัฒนาระบบบริการให้ตรงปัญหาและความต้องการ

 

 

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตให้สัมภาษณ์เนื่องในวันผู้สูงอายุ ซึ่งตรงกับวันที่ 13 เมษายน ทุกปีว่า ขณะนี้ประเทศไทยเป็นสังคมของผู้สูงอายุ  ข้อมูลกระทรวงมหาดไทยในปี 2560 ไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 10.2 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 15ของประชากรทั้งประเทศ ในปี 2561นี้กรมสุขภาพจิต เน้นการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตผู้สูงอายุ โดยสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมสร้างสุข 5 มิติผ่านทางชมรมผู้สูงอายุที่ขึ้นทะเบียนในเครือข่ายสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ทั่วประเทศ ตั้งเป้าให้ได้ร้อยละ 50 หรือจำนวน 13,196 แห่ง และจะขยายเพิ่มให้ครบทุกแห่งในปีหน้านี้  จะทำให้ผู้สูงอายุสุขภาพจิตดี และมีสุขภาพกายดีตามไปด้วย  หรือที่เรียกว่าใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว  ลดการพึ่งพิงคนในครอบครัว

            ความสุข 5 มิติ เป็นความสามารถที่จำเป็นพื้นฐานของผู้สูงอายุที่จะทำให้มีความสุข ประกอบด้วย 1.สุขสบาย (Happy Health) ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง คล่องแคล่ว ชะลอความเสื่อมและคงสมรรถภาพทางกายให้นานที่สุด โดยออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่เช่นการเดิน รำไทเก๊ก ทำให้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 30 นาทีต่อครั้งอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์หรือวันเว้นวัน     2.สุขสนุก (Recreation)มีสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อน  พูดคุยกับคนในครอบครัว ทำกิจกรรมที่ทำให้จิตใจแจ่มใส เช่น เล่นกีฬา ดนตรี กิจกรรมนันทนาการต่างๆ จะทำให้อายุยืนกว่าคนที่ไม่มีสังคมถึง 7 ปี 3.สุขสง่า (Integrity)เป็นความรู้สึกพึงพอใจ ภาคภูมิใจ มีคุณค่า เช่นเป็นที่ปรึกษาของครอบครัว ลูกหลาน เป็นจิตอาสา เป็นการให้ที่ไม่หวังผลตอบแทน 4.สุขสว่าง (Cognition)เป็นความสามารถของสมองทั้งด้านความจำ ความคิดอย่างมีเหตุผล โดยอย่าหยุดยั้งที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เช่นเรียนภาษาต่างถิ่น ฝึกคิดเลขในใจบ่อยๆหรือสวดมนต์โดยไม่ต้องอ่านจากหนังสือ จำเบอร์โทรศัพท์คนใกล้ชิด ช่วยชะลอความเสื่อมของสมอง และ 5.สุขสงบ (Peacefulness) ผู้สูงอายุสามารถเข้าใจและจัดการอารมณ์เพื่อให้เกิดความสงบทางใจ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น ฝึกสติ ฝึกสมาธิ บริหารจิตอย่างสม่ำเสมอ การศึกษาพบว่าจะมีผลต่อสุขภาพมาก ทำให้ความดันโลหิตลดลง และนอนหลับได้ดี

ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตจะดำเนินการประเมินความสุขรวมถึงคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุทั่วประเทศในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งทำเป็นครั้งแรกในประเทศ  เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาระบบบริการให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุยิ่งขึ้น โดยใช้แบบประเมินสุขภาพจิตผู้สูงอายุฉบับสั้นและเครื่องมือวัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อ

ทางด้านนางสุดา  วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิตกล่าวว่า ขณะนี้สำนักฯได้จัดทำคู่มือการสร้างสุข 5 มิติ สนับสนุนหน่วยงานสาธารณสุขและชมรมผู้สูงอายุทั่วประเทศนำไปใช้แล้ว โดยผู้สูงอายุที่มีสุขภาพจิตดี จะมีลักษณะประการคือ 1.ร่างกายแข็งแรง  ดูกระฉับกระเฉง เดินเหินได้คล่องแคล่วตามศักยภาพ  2.มีอารมณ์ดีและมีสังคม จิตใจแจ่มใสเบิกบาน  หัวเราะได้อย่างน้อยวันละครั้ง และรู้จักสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับลูกหลาน ไม่บ่นว่าลูกหลาน หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มเพื่อนหรือคนรู้จัก 3.มีคุณค่า พยายามช่วยเหลือตนเอง โดยพึ่งพิงผู้อื่นน้อยที่สุด รู้จักให้ วิธีการให้ที่ง่ายที่สุดคือให้คำแนะนำและถ่ายทอดภูมิปัญญาให้กับลูกหลานหรือชุมชน 4.มีความคิดดี สนใจสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ความเป็นไปของโลก  รู้จักตั้งคำถามหรือหาคำตอบที่สงสัย เพื่อให้เกิดความคิดพัฒนาอยู่เรื่อยๆ และคิดทันสมัย และ 5.ชื่นชมชีวิต มีความเข้าใจชีวิต ควบคุมอารมณ์ที่เกิดขึ้น รู้จักวิธีการผ่อนคลายที่ก่อให้เกิดความสงบทางใจ โดยผู้สูงอายุสามารถตรวจประเมินสุขภาพจิต คุณภาพชีวิตตนเองได้ทางระบบออนไลน์ ทาง www.sorporsor.com     


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 เม.ย. 2561 เวลา : 14:28:27
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 6:37 pm