อสังหาริมทรัพย์
กคช.แจงดัชนีเศรษฐกิจชุมชนเดือนเม.ย.61 พร้อมทั้งชู Flagship Projects สนองนโยบายเร่งด่วน พม.


การเคหะแห่งชาติแจงดัชนีเศรษฐกิจชุมชนของการเคหะแห่งชาติ ประจำเดือนเมษายน 2561 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าดัชนี 52.1 สูงกว่าดัชนีเศรษฐกิจฐานราก และดัชนีเศรษฐกิจของผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งชู Flagship Projects 4 โครงการ ตอบสนองนโยบายเร่งด่วน พม.

 

 

 

  

ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวถึงดัชนีเศรษฐกิจชุมชน (Community Economic Index : CEI) ว่า การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลครัวเรือนของผู้อยู่อาศัยในโครงการของการเคหะแห่งชาติ และครัวเรือนของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนอื่นๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำเดือนเมษายน 2561 เพื่อติดตามและประเมินผลการเติบโตด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยโดยรวมของครัวเรือนในโครงการของการเคหะแห่งชาติ เพื่อเปรียบเทียบการเติบโตด้านเศรษฐกิจกับครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยในชุมชนอื่นๆ รวมถึงศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการจัดทำดัชนีชี้วัดทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และด้านที่อยู่อาศัยของครัวเรือน ทั้งในชุมชนโครงการของการเคหะแห่งชาติ และครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยในชุมชนอื่นๆ พบว่า 

 

 

ผลการประเมินด้านเศรษฐกิจในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีค่าดัชนี 55.8 ภาคกลางมีค่าดัชนี 47.4 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีค่าดัชนี 53.1 โดยค่าดัชนีในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีค่าสูงกว่าค่ากลาง  (ค่ากลาง = 50) แสดงว่าครัวเรือนในชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีซึ่งสะท้อนได้จากครัวเรือนมีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ที่แน่นอน มีเงินทุนในการประกอบอาชีพ และในครัวเรือนส่วนใหญ่ยังมีการออมทรัพย์เกินร้อยละ 50 ของครัวเรือนทั้งหมดในชุมชน ทั้งนี้ ครัวเรือนส่วนใหญ่ในชุมชนของการเคหะแห่งชาติจะออมทรัพย์ในรูปแบบของเงินสด หรือฝากเงินไว้ในธนาคาร มีพียงครัวเรือนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ออมทรัพย์ในอสังหาริมทรัพย์มากกว่าภูมิภาคอื่นๆ สำหรับภาระหนี้สินของครัวเรือนของชุมชนการเคหะแห่งชาติส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ในการซื้อบ้านและที่ดิน รองลงมาได้แก่ หนี้เพื่อการดำรงชีพ และหนี้เพื่อสิ่งอำนวยความสะดวก ตามลำดับ ส่วนแหล่งเงินกู้ของครัวเรือนของชุมชน
การเคหะแห่งชาติ ส่วนใหญ่กู้เงินจากธนาคาร รองลงมากู้เงินจากญาติหรือพี่น้อง แต่มีบางส่วนที่กู้เงินนอกระบบ 

 

  

ผลการประเมินด้านสังคมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีค่าดัชนี 50.5 ภาคกลางมีค่าดัชนี 22 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีค่าดัชนี 43.8 โดยค่าดัชนีของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีค่ามากกว่าค่ากลาง
(
ค่ากลาง=50) ซึ่งหมายความว่าครัวเรือนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่าภาคอื่นๆ ประเมินได้จากชุมชนสามารถพึ่งพาอาศัยกันได้ มีการรวมกลุ่มในการทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นต้น 

 

  

ผลการประเมินด้านที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีค่าดัชนี 55.8  ภาคกลางมีค่าดัชนี 64.4 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีค่าดัชนี 65.1 โดยค่าดัชนีดังกล่าวของทุกภาคมีค่าดัชนีสูงกว่าค่ากลาง (ค่ากลาง=50) ซึ่งสะท้อนได้จากสัดส่วนของครัวเรือนที่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินส่วนใหญ่เกินร้อยละ 45 สภาพที่อยู่อาศัยในโครงการมีสภาพที่ดีไม่เสื่อมโทรมเกินร้อยละ 70 และยังช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน เช่น ดูแลเรื่องขยะ การกำจัดของเสีย เป็นต้น 

 

ทั้งนี้ การเคหะแห่งชาติได้เปรียบเทียบดัชนีเศรษฐกิจในกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ ดัชนีเศรษฐกิจชุมชนของการเคหะแห่งชาติมีค่า 52.1 ดัชนีเศรษฐกิจฐานรากมีค่า 46.9 และดัชนีเศรษฐกิจของผู้มีรายได้น้อย 31.1 พบว่า ในภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจชุมชนของการเคหะแห่งชาติมีค่าสูงกว่าดัชนีเศรษฐกิจฐานราก และดัชนีเศรษฐกิจผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากครัวเรือนในชุมชนของการเคหะแห่งชาติมีรายได้ที่แน่นอน มีเงินทุนในการประกอบอาชีพ มีตลาดขายสินค้า และครัวเรือนยังมีการออมทรัพย์ในรูปแบบต่างๆ มากกว่ากลุ่มอื่นๆ 

 

  

สำหรับการดำเนินงานของการเคหะแห่งชาติที่ตอบสนองนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กำหนด Flagship Projects ที่สำคัญ 4 โครงการ ได้แก่ 

 

1.โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุรายได้ปานกลาง (บ้านเคหะกตัญญู คลองหลวง 1, 2) เพื่อให้ผู้สูงอายุมีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีเป้าหมายจัดทำจำนวน 2 โครงการ รวม 360 หน่วย ตั้งอยู่บริเวณถนนเลียบคลองสี่ ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ได้แก่ โครงการบ้านเคหะกตัญญูคลองหลวง 1 จำนวน 192 หน่วย และโครงการบ้านเคหะกตัญญูคลองหลวง 2 จำนวน 168 หน่วย ขณะนี้เตรียมเสนอโครงการฯ    ต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลังเพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายในเดือนพฤษภาคม 2561 และคาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบภายในเดือนมิถุนายน 2561

2. โครงการเคหะประชารัฐ (ร่วมดำเนินงานกับภาคเอกชน) เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ คุ้มค่า และมีสภาพแวดล้อมที่ดี มีรูปแบบการดำเนินงาน ประกอบด้วย โครงการที่มีมูลค่าสูงกว่า 5,000 ล้านบาท (Joint Investment) ดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ .. 2556 ขณะนี้การเคหะแห่งชาติอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการให้เอกชนร่วมทุน 3 พื้นที่ ได้แก่ โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม ร่มเกล้า โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 3 และระยะที่ 4 (ผู้อยู่อาศัยใหม่) และโครงการเชิงพาณิชย์ในโครงการเคหะชุมชนเชียงใหม่ (หนองหอย) และอยู่ระหว่างจัดหาที่ปรึกษาอีก 2 พื้นที่ ได้แก่ โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสวัสดิการข้าราชการปทุมธานี (ลำลูกกา) และโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสวัสดิการข้าราชการสมุทรปราการ (บางเสาธง)  

อีกรูปแบบคือ โครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท มี 2 รูปแบบ ได้แก่ แบบแรก Joint Operation
การให้สิทธิการเช่าระยะยาวบนที่ดินของการเคหะแห่งชาติที่มีขนาดเล็ก มีเป้าหมายดำเนินโครงการจำนวน 50,000 หน่วย และแบบที่สอง Joint Support โดยการเคหะแห่งชาติจะเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ สนับสนุน หรือบริหารจัดการโครงการก่อสร้างให้กับเอกชน ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการ 77 จังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดละประมาณ 800 - 1,000 หน่วย รวม 70,000 หน่วย โดยจะนำร่องใน 10 จังหวัด ได้แก่ มุกดาหาร นครพนม ตาก พิษณุโลก นราธิวาส นครศรีธรรมราช ระยอง ชลบุรี นครนายก และสระบุรี  

3. โครงการตลาดเคหะประชารัฐ ได้มีการเปิดตลาดเคหะประชารัฐ 3 ประเภท ใน 4 มุมเมือง ได้แก่ ตลาดเคหะประชารัฐชวนเดินเพลินใจบวร - ร่มเกล้า ตลาดเคหะประชารัฐชุมชนสุขใจพหลโยธิน 44 และนนทบุรี (วัดกู้ 2) รวมถึงตลาดเคหะประชารัฐพลาซ่าเยส บางพลี โดยการเคหะแห่งชาติเตรียมเดินหน้าขยายตลาดเคหะประชารัฐไปสู่ภูมิภาคต่างๆ กว่า 93 ตลาด รวม 9,900 แผงร้านค้า โดยในปี 2561 จะเริ่มดำเนินการในจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี          

 

4. การบริหารจัดการอาคารคงเหลือ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยการเคหะแห่งชาติตั้งเป้าหมายขายในปีงบประมาณ 2561 จำนวน 13,301 หน่วย ปัจจุบัน
ขายได้ 9,281 หน่วย (ข้อมูล วันที่ 1 พฤษภาคม 2561) ในระหว่างนี้ จะจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการขายและ
ลงพื้นที่รณรงค์การขายอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 พ.ค. 2561 เวลา : 10:34:14
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 12:03 am