แฟชั่น-เดินทาง-กินดื่ม-เที่ยว
อพท.เดินหน้าจัดเส้นทางเที่ยวเชื่อมโยง 'อารยธรรมสุโขทัย'


อพท. สำรวจข้อมูลทุนวัฒนธรรม 4 จังหวัด สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก ตาก  เตรียมพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง คาด 2 ปี แล้วเสร็จ ตอกย้ำทุนวัฒนธรรมและมรดกโลกกินได้

 


 

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท. อยู่ระหว่างลงพื้นที่สำรวจข้อมูลที่เป็นของดี ของเด่น และทุนทางวัฒนธรรม ในจังหวัด ประกอบด้วย สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก และตาก  เพื่อรวบรวมและจัดทำเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงอารยธรรมสุโขทัยโดยมีจุดเริ่มต้นจากเมืองมรดกโลกจังหวัดสุโขทัย และจังหวัดกำแพงเพชร และจะนำมาเชื่อมต่อกับมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัด พิษณุโลก และตาก 

นอกจากนั้นยังสำรวจข้อมูลร้านอาหาร โรงแรม ที่พัก ของทั้ง 4 จังหวัด ไปพร้อมกัน เพื่อรวบรวมข้อมูลที่ได้มาจัดทำเป็นข้อมูลสารสนเทศด้านการท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยว ให้หน่วยงานที่สนใจหรือนักท่องเที่ยวได้นำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาการสืบค้นและพัฒนาประมาณ 2 ปี

ที่ผ่านมา อพท. รับผิดชอบการพัฒนาพื้นที่มรดกโลก ในจังหวัดสุโขทัย และกำแพงเพชร  แต่ในส่วนของจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดตาก  เป็นพื้นที่ที่ อพท. จะเริ่มเข้าไปพัฒนาให้เกิดความเชื่อมโยง ซึ่งเป็นผลมาจากการประกาศเขตพัฒนาการท่องเที่ยว (คลัสเตอร์) “มรดกโลกด้านวัฒนธรรมของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

สำหรับแนวคิดการพัฒนายังคงตอกย้ำ มรดกโลกกินได้นำเสนอ สุโขทัย ศูนย์กลางเมืองมรดกโลก มีจังหวัดพิษณุโลกเป็นโครงข่ายการคมนาคม ทั้งทางบกและทางอากาศ ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่มาแต่ในอดีตเช่นกัน   ส่วนจังหวัดตาก ก็มีความสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และชาติพันธ์ และยังเป็นจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเมียนม่า ซึ่งมีจุดแข็งทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ และการค้าขาย

 “ในการสืบค้นข้อมูล อพท. ทำงานร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน  องค์กรปกครองท้องถิ่น จังหวัด กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตลอดจนชุมชน และปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการพัฒนาและนำเสนอ โดยในทุกขั้นตอนของการพัฒนา อพท. ยังเน้นย้ำว่าชุมชนต้องมีส่วนร่วม เพื่อให้การพัฒนานี้เกิดเป็นความยั่งยืน

สำหรับเครื่องมือการทำงาน อพท. มีเครื่องมือสำคัญ 3 ชุด เพื่อนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย ชุดแรก : แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) มีอยู่ 105 ข้อ เป็นการวัดสภาพว่าแหล่งท่องเที่ยวหรือพื้นที่ท่องเที่ยวนั้นๆ จัดว่าเป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้มากน้อยเพียงใด เมื่อวัดเสร็จก็ทำหรือปรับปรุงในประเด็นที่ขาดไป ชุดที่สอง : แนวทางการบริหารจัดการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน เรียกง่ายๆ ว่า อพท.น้อย ซึ่งสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) ได้ให้การรับรองเรียบร้อยแล้ว ใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอยู่ 66 ข้อ เมื่อวัดเสร็จก็ปรับปรุงหรือทำในข้อที่ขาดไป และชุดที่สาม : แนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน  ใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีอยู่ 100 ข้อ เมื่อวัดเสร็จก็แก้ไข ปรับปรุงหรือทำ ในข้อที่ขาดไป

ในส่วนของจังหวัดสุโขทัย และกำแพงเพชร อพท. พัฒนาภายใต้แนวคิดมรดกพระร่วงให้นักท่องเที่ยว ได้เรียนรู้และสัมผัสผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเกิดความเข้าใจและจดจำ ล่าสุดยังร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร และวิทยาลัยนาฏศิลป์สุโขทัย ศึกษาเกี่ยวกับท่าร่ายรำต่างๆ ที่อยู่ตามปูนปั้นของโบราณสถาน โบราณวัตถุ ตลอดจนภาพจิตกรรม ซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของพื้นที่ 

โดยศึกษาทั้งในส่วนดุริยางคศิลป์ นาฏศิลป์ และจิตกรรม เพื่อมานำเสนอให้แก่นักท่องเที่ยวได้รู้จักและรู้ความหมาย และสามารถต่อยอดให้เป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เพราะคำว่ามรดกทางวัฒนธรรม หมายถึงทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ถ้าได้มีการรื้อฟื้นและนำเสนอได้อย่างเหมาะสม จะเป็นอัตลักษณ์และเป็นเสน่ห์ ชวนให้นักท่องเที่ยวได้มาเยือน มาศึกษาหาความรู้ ชุมชนเห็นคุณค่าที่จะพัฒนาสู่มูลค่า จึงเกิดเป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม อพท. วางเป้าหมายการพัฒนาเส้นทางอาณาจักรสุโขทัย อพท. ต้องส่งเสริมให้ชุมชนเห็นคุณค่าของความเป็นเมืองประวัติศาสต์ พร้อมผลักดันการนำเสนอมุมมองใหม่ในแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นจุดหมายปลายทาง เพื่อทำให้นักท่องเที่ยวที่เคยมาท่องเที่ยวแล้วกลับมาเที่ยวซ้ำ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ชื่นชอบหรือสนใจในประวัติศาสตร์ รวมถึงกลุ่มคนที่ยังไม่เคยมาอีกด้วย ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวหลักจะต้องสามารถเชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวรองได้ ด้วยการร้อยเรื่องราวของประวัติศาสตร์ไปสู่ชุมชน ผ่านวิถีชีวิต ความเชื่อ งานหัตถกรรม

สำหรับเส้นทาง ส่องสัตว์ศิลปะพระร่วง เป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ ศิลปะ ศาสนา ผ่านการชื่นชมศิลปกรรมรูปสัตว์ที่มีความหมายมงคล เพื่อทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกเข้าถึงง่าย เข้าใจง่าย ได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึง หรือได้มากกว่าที่คาดหวังไว้ แล้วจึงร้อยเรียงเรื่องราวไปยังแหล่งชุมชนที่มีศิลปะรูปสัตว์ซุกซ่อนอยู่ในงานหัตถกรรมและความเชื่อ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งมุมมองของการท่องเที่ยวชมโบราณสถาน ที่จะสร้างความเพลิดเพลินและได้รับความรู้จากการท่องเที่ยวอย่างลึกซึ้ง


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 พ.ค. 2561 เวลา : 09:16:10
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 10:44 am