เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รัฐเร่งผลักดัน 'กม.คุมเงินดิจิทัล' สกัดฟอกเงิน ป้องกันการหลอกลวง


สาเหตุหลักที่รัฐบาลต้องเร่งออกกฎหมายคุมเงินดิจิทัล โดยประกาศเป็นพระราชกำหนด  น่าจะมีเหตุผลจากการป้องกันไม่ให้ไทยเป็นแหล่งฟอกเงิน  โดยเฉพาะในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง  รวมถึงการป้องกันการหลอกลวงให้เข้ามาลงทุน

 

  

       

ดร.วิษณุ  เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในงานสัมมนา "Symposium Thailand 4.0 "Fintech & Cryptocurrency vs. Law Enforcement" ว่า คริปโตเคอร์เรนซี่ ฟินเทค และสินทรัพย์ดิจิทัล  ถือเป็นเรื่องใหม่และไม่มีลักษณะทางกายภาพ ทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องใช้เวลาในการพิจารณากฎหมาย เพื่อให้รัดกุมมากที่สุด เพราะอาจะเกิดการทุจริต โจรกรรม หรือการหลอกลวงให้เข้ามาลงทุนได้

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้รับการแจ้งเตือนจากต่างประเทศให้ระวังจะตกเป็นสวรรค์แห่งฟอกเงินของกลุ่มผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ   ที่จะเข้ามาฟอกเงินผ่านการลงทุนบิทคอยน์ การฟอกเงินเพื่อการค้ามนุษย์   และการซื้อขายยาเสพติด รวมทั้งเตือนให้ระวังอาจมีผู้กระทำผิดด้วยการลงทุนบิทคอยน์  เพื่อนำเงินมาใช้ในการซื้อสิทธิขายเสียงในช่วงเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

ดังนั้น รัฐบาลจึงได้เร่งหาแนวทางป้องกัน โดยมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (...) และกระทรวงการคลังศึกษาจนนำไปสู่การจัดทำเป็นกฎหมายขึ้น

 

 

ทั้งนี้รัฐบาลมองว่า คริปโตเคอร์เรนซี่ ฟินเทค และสินทรัพย์ดิจิทัลมีทั้งประโยชน์และโทษ ประโยชน์ คือ จะช่วยผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ (สตาร์ทอัพ) และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ถ้าใช้อย่างระมัดระวัง  รัฐบาลมีกลไกดูแล แต่ไม่คัดค้านการเล่นคริปโตเคอร์เรนซี่และสินทรัพย์ดิจิทัล  เพียงแต่ขอให้ผู้เล่นรู้ทันกัน รวมถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วย

 

 

ด้านดร.วิรไท  สันติประภพ  ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงความท้าทายของภาครัฐในการกำกับดูแลฟินเทค (Fintech) ว่า ระบบฟินเทคได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อภูมิทัศน์ของภาคการเงินใน 4-5 ประเด็นที่สำคัญ เช่น  ทำให้เส้นแบ่งระหว่างผู้ให้บริการทางเงินไม่ชัดเจนเหมือนที่ผ่านมา  เนื่องจากปัจจุบันมีการแบ่งฟินเทค ออกเป็นธุรกรรมย่อยๆ เฉพาะส่วนมากขึ้น เช่น การให้บริการเฉพาะการโอนเงินข้ามแดน, การให้บริการเฉพาะสินเชื่อ เป็นต้น  รวมถึงการเกิดแพลตฟอร์มใหม่ๆ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการกำกับดูเทคโนโลยีทางการเงิน เพื่อให้มีการควบคุมดูแลที่ดี และไม่ทำให้เทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ สร้างความเสียหายต่อภาคการเงิน และต่อเนื่องถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศได้  

     

   

 

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงาน ... กล่าวว่า   ปัจจุบันตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเหมาะสมกับกลุ่มคนที่เรียกว่า "แฟนพันธุ์แท้" เท่านั้นไม่ใช่ตลาดที่บุคคลทั่วไปที่ไม่ค่อยมีความรู้เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะการระดมทุนในลักษณะนี้  เป็นเรื่องที่จะต้องมีความเข้าใจเรื่องของเทคโนโลยี และเหตุผลของการระดมทุนผ่าน ICO และผลตอบแทนที่สูงถึง 100-1,000% ขณะเดียวกันอาจจะล้มเหลวเป็นการลงทุนที่สูญเปล่าได้เช่นกัน   

โดยคนที่จะเข้ามาเล่นตลาดนี้จะต้องเข้าใจ 2 เรื่องหลัก คือ 1. ต้องเข้าใจว่าเทคโนโลยีมันคืออะไร เทคโนโลยีมีความเป็นไปได้หรือเปล่า  2.ต้องเชื่อว่าเทคโนโลยีเมื่อทำได้สำเร็จแล้ว มันสามารถที่จะไปสร้างเงินสร้างผลตอบแทนได้อย่างมหาศาล แล้วผลตอบแทนที่ได้อย่างมหาศาลจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อธุรกิจไปดิสรัปชัน (Disruption) ธุรกิจอื่นที่เคยทำอยู่แล้ว

 

        

 

นายปรีดี   ดาวฉาย   ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า  การออกหลักเกณฑ์และการกำกับดูแลนั้น  เป็นเรื่องที่ควรต้องมีเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับเสถียรภาพโดยรวมของระบบ  เนื่องจากในประเทศมีทั้งผู้ที่รู้ และสามารถรองรับความเสี่ยงจากการลงทุนในคริปโต เคอร์เรนซี่ และมีผู้ที่ไม่รู้แต่อาจจะถูกล่อลวงไปโดยทุจริตได้   จึงต้องมีกรอบไว้เพื่อดูแลในระดับหนึ่ง     


LastUpdate 25/05/2561 11:45:35 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 3:11 pm