ไอที
เผยความพร้อมและปัจจัยขับเคลื่อนการใช้งาน AI ในภาคธุรกิจไทย บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นในระบบคลาวด์อัจฉริยะของไมโครซอฟท์


ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ดึงสองผู้พัฒนาโซลูชั่น AI ชั้นนำสำหรับภาคธุรกิจ บริษัท ดิจิตอล ไดอะล็อก จำกัด และ บริษัท ฟรอนทิส จำกัด แสดงศักยภาพในการเสริมประสิทธิภาพการทำงาน สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภค และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในสังคม ทั้งการเก็บอัตลักษณ์บุคคลและการตอบคำถามด้วยบอทอัจฉริยะ ตอกย้ำถึงความพร้อมในการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยได้ทันที ด้วยชุดเครื่องมือครบครันบนแพลตฟอร์มไมโครซอฟท์ อาซัวร์ คลาวด์ระดับโลกที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ที่สุด

 

 

 

เราเคยนำเสนอรายงานวิจัยของไมโครซอฟท์และไอดีซีที่ทำร่วมกันในปีนี้ ซึ่งได้คาดการณ์ไว้ว่ากว่า 40% ของกระบวนการ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ภายในปี 2562 จะมี AI เข้ามามีบทบาทสนับสนุนด้วย และในปี 2563 ก็เป็นที่คาดการณ์ว่าจะมีองค์กรถึง 85% ที่นำ AI มาประยุกต์ใช้งาน” นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยแนวโน้มความเคลื่อนไหวเหล่านี้ถือเป็นการยืนยันถึงมุมมองของไมโครซอฟท์ที่ว่าโลกของเราก้าวมาถึงยุคแห่ง ‘Intelligent Cloud’ และ ‘Intelligent Edge’ จะเห็นได้ชัดเจนถึงการถ่ายทอดความสามารถของเทคโนโลยีอันชาญฉลาดจากคลาวด์มาสู่ดีไวซ์ต่างๆ ที่ผู้ใช้ทุกระดับสามารถใช้งานร่วมกันได้ในชีวิตประจำวัน 

ไมโครซอฟท์ยังคาดการณ์อีกว่าแอปพลิเคชันกว่า 50% ในตลาด จะนำ AI มาผนวกเพื่อใช้งานในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งภายในสิ้นปี 2561 นี้ ส่วนการใช้บอทและ AI ติดต่อสื่อสารกับลูกค้านั้น มีแนวโน้มที่จะแพร่หลายขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนอาจคิดเป็นอัตราส่วนถึง 95% ของการสนทนากับลูกค้าในปี 2568

 

 

ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์ได้มุ่งพัฒนาเพื่อเสริมให้ทุกผลิตภัณฑ์และบริการมี AI อัจฉริยะ มาอำนวยความสะดวกและเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้กับผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอไอเดียการพรีเซนต์รูปแบบใหม่ๆให้ผู้ใช้ใน PowerPoint การเสนอแนะแนวทางการวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลดิบที่ผู้ใช้กรอกใน Excel หรือฟังก์ชันการเสนอแนะแนวทางการทำงานในด้านต่างๆ ของธุรกิจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานขาย ปฏิบัติการ หรือบริการลูกค้า ใน Dynamics 365

นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังมีแพลตฟอร์ม AI และคลาวด์ที่เปิดกว้าง พร้อมสนับสนุนให้ทุกแนวคิดและจินตนาการของนักพัฒนากลายเป็นความจริง ทั้งในระดับของ AI ที่ทำงานเพื่อมนุษย์ ทำงานแทนมนุษย์ หรือช่วยตัดสินใจให้มนุษย์ ด้วยชุดเครื่องมือและบริการมากมายบนแพลตฟอร์มคลาวด์ ไมโครซอฟท์ อาซัวร์ ที่รองรับการพัฒนาโซลูชั่น AI หลากหลายรูปแบบ นับตั้งแต่ฟังก์ชันอัจฉริยะแบบสำเร็จรูป ไปจนถึงโครงสร้างด้านข้อมูลและ AI ที่รับรองมาตรฐานต่างๆ มากมายสำหรับนักพัฒนาทุกกลุ่มและทุกระดับในตลาด 

ข้อมูล-บุคลากร-ความเข้าใจ สามปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อน AI ให้แพร่หลาย

นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์และบริการจากผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์มต่างๆ แล้ว ความแพร่หลายในการใช้งาน AI ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญอีกสามประการ ได้แก่

·       ทรัพยากรข้อมูล – กลไกและแนวทางในการค้นหา คัดเลือก และจัดเก็บข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มากมาย

·       บุคลากร – ความรู้ความเข้าใจในการวิเคราะห์หรือประยุกต์ใช้ข้อมูลในรูปแบบที่เกิดประโยชน์กับองค์กร ผู้ใช้งาน หรือสังคม

·       ความเข้าใจ – นอกจากทักษะและความเข้าใจเชิงเทคนิคของผู้พัฒนา AI เองแล้ว ความไว้เนื้อเชื่อใจในเทคโนโลยี AI และความมั่นใจในประสิทธิภาพหรือความแม่นยำของระบบก็มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมนี้เช่นกัน

ประเด็นด้านความเข้าใจของสังคมที่มีต่อเทคโนโลยี AI ถือเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนอยู่ไม่น้อย” นายธนวัฒน์เสริม “นอกจากแง่มุมด้านเทคโนโลยีแล้ว การใช้งาน AI อย่างแพร่หลายเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการวางมาตรฐานที่ชัดเจนในด้านความปลอดภัยของข้อมูล ความโปร่งใสในการทำงาน และความรับผิดชอบของผู้พัฒนา เป็นต้น โดยการพัฒนา AI จะต้องมีวัตถุประสงค์หลักคือการส่งเสริมให้มนุษย์สามารถทำงานได้ดีขึ้น มากขึ้น หรือทำในสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยเป็นไปได้มาก่อน ไม่ใช่การเข้ามาแทนที่มนุษย์แต่อย่างใด

สองบริษัทที่ปรึกษาและพัฒนา AI ระดับแถวหน้าของไทย ร่วมแสดงความพร้อมของ AI ในประเทศไทย

ในโอกาสนี้ บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีชั้นนำของไทยอย่าง ดิจิตอล ไดอะล็อก และ ฟรอนทิส ได้ร่วมนำเสนอผลงานการพัฒนาโซลูชั่น AI ที่สามารถใช้งานได้จริงแล้วในภาคธุรกิจ เพื่อเน้นย้ำถึงความพร้อมทั้งเชิงเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับนวัตกรรม AI ในประเทศไทย 

 

 

เทคโนโลยี AI และบอทจะช่วยให้การติดต่อสื่อสารระหว่างองค์กร พนักงาน และลูกค้า มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างชัดเจน ตลอดจนสามารถเป็นผู้ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น โดยแต่ละองค์กรสามารถปรับแต่ง AI ให้เข้ากับรูปแบบการทำงานของตนเองได้อย่างลงตัว” คุณจิดาภา วัฒนภักดี รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิตอล ไดอะล็อก จำกัด กล่าว “ที่สำคัญ การเริ่มต้นนำระบบ AI มาใช้งานในเชิงธุรกิจไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะโซลูชั่น CUBIK Chat ของเรา สามารถพัฒนาให้พร้อมใช้งานจริงได้ในเวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้น โดยแชทบอทในรูปแบบนี้สามารถจัดการกับคำถามจากลูกค้าได้ในปริมาณที่มากกว่ามนุษย์นับสิบเท่า ตอบโต้กับคู่สนทนาด้วยภาษาไทยผ่านระบบ Natural Language Processing (NLP) รองรับการทำธุรกรรมหลายรูปแบบ เช่นการชำระค่าบริการ สั่งซื้อสินค้า หรือจองตั๋วเครื่องบินและที่พัก เป็นต้น ทั้งยังสามารถส่งคำถามต่อให้กับเจ้าหน้าที่ในศูนย์บริการลูกค้ามารับช่วงได้อย่างไร้รอยต่อ คุณสมบัติเหล่านี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างคล่องตัวยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการเพิ่มยอดขาย ส่วนตัวบอทเองก็ยังมีระบบ Machine Learning ที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาความสามารถได้จากข้อมูลการตอบโต้กับลูกค้าในสถานการณ์จริง ซึ่งเปรียบเสมือนวัตถุดิบสำหรับฝึกฝนบอทต่อไป 

โซลูชั่น CUBIK Chat ของดิจิตอล ไดอะล็อก สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายสถานการณ์ เช่นในกรณีตัวอย่างของแชทบอทภายในองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายประสานงานของแผนกทรัพยากรบุคคล สามารถให้รายละเอียดเกี่ยวกับสวัสดิการของพนักงานได้อย่างครบถ้วนและแม่นยำในระดับรายบุคคล เช่นการแนะนำวันลาพักร้อนในช่วงที่เหมาะสม หรือการแจ้งเตือนหมดเขตสวัสดิการพนักงานเป็นต้น นอกจากนี้ ดิจิตอล ไดอะล็อก ยังเป็นผู้พัฒนาแชทบอท “ฟ้า” ให้กับการบินไทย เพื่อคอยตอบข้อซักถามจากลูกค้าผ่านทางหน้าเว็บไซต์อีกด้วย 

ส่วนบริษัท ฟรอนทิส จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านการวางแผนกลยุทธ์ (Strategy Consulting) และการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในองค์กร (Digital Transformation) ได้จัดแสดงตัวอย่างการใช้งานเทคโนโลยี Cognitive Services บนแพลตฟอร์มคลาวด์ ไมโครซอฟท์ อาซัวร์ ที่ช่วยนำมาพลิกโฉมองค์กรด้วย AI เช่นการสแกนและเปรียบเทียบพิกัดสามมิติบนใบหน้าของพนักงานเพื่อควบคุมการเข้าออกและรักษาความปลอดภัยในอาคารของบริษัท การใช้ AI จดจำใบหน้าของลูกค้าคนสำคัญและใช้ Predictive Analytics เพื่อเสนอสินค้าที่โดนใจ รวมทั้งการยืนยันตัวตนขณะเข้าใช้บริการจากธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ เป็นต้น

 

 

 

คุณปริญญ์ บุญดีสกุลโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟรอนทิส จำกัด เผยว่า “โลกยุคดิจิทัลกำลังเปลี่ยนผ่านจากยุคของมือถือและคลาวด์ (Mobile First, Cloud First) สู่ยุคที่ AI จะมีบทบาทในทุกนาทีของชีวิต (AI First World) โดย Cognitive Services เปิดโอกาสให้ AI สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้กว้างขวางยิ่งขึ้น เช่น การจดจำใบหน้า (Face Recognition) เพียงอย่างเดียวอาจนำไปใช้เสริมสร้างความสะดวก ความปลอดภัย และความมีประสิทธิภาพในหลายอุตสาหกรรมม่ว่าจะเป็น การยืนยันสิทธิการเข้าถึงบริการหรือระบบต่างๆ หรือแม้แต่อำนวยความสะดวกในการมอบสิทธิพิเศษให้กับสมาชิกและลูกค้าประจำของร้านค้า เป็นต้น นอกจากนี้ การจดจำใบหน้ายังสามารถทำได้โดยไม่ล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการ โดยระบบของเราจะเลือกบันทึกเฉพาะพิกัดที่สแกนจากใบหน้าเท่านั้น แทนที่จะบันทึกภาพถ่ายใบหน้าทั้งภาพ และยังมีการล้างฐานข้อมูลใบหน้าออกภายใน 24 ชั่วโมง ควบคู่กับมาตรการด้านความปลอดภัยอื่นๆ เพื่อป้องกันการรั่วไหลอีกด้วย

ไมโครซอฟท์ คลาวด์ รองรับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (GDPR) เต็มรูปแบบ สร้างมาตรฐานใหม่ด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

การเริ่มบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (GDPR) ของสหภาพยุโรปในวันนี้ (25 พฤษภาคม) ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ทั้งในชาติสมาชิกสหภาพยุโรปและประเทศอื่นๆ ที่ต้องติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับบุคคลหรือองค์กรจากชาติกลุ่มดังกล่าว ดังนั้น องค์กรทั่วโลกที่มีลูกค้าในชาติสหภาพยุโรปหรือต้องทำธุรกรรมกับธุรกิจในกลุ่มประเทศนี้จึงจำเป็นต้องปฏิบัติงานตามกรอบข้อบังคับของ GDPR 

นับตั้งแต่การรับรองร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อสองปีก่อน ไมโครซอฟท์ได้มอบหมายให้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญกว่า 1,600 คนลงมือทำงานเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทให้เป็นไปตามมาตรฐาน GDPR อย่างเคร่งครัด จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ บริการ และแพลตฟอร์มต่างๆ ของไมโครซอฟท์พร้อมรองรับความต้องการของทุกองค์กรที่ต้องการทำธุรกิจภายใต้กรอบของ GDPR

นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังพร้อมที่จะขยายสิทธิพื้นฐานหลักในกฎหมายฉบับนี้ให้กลายเป็นสิทธิของผู้ใช้และลูกค้าทุกคนทั่วโลก โดยลูกค้าจะได้ทราบถึงข้อมูลที่ไมโครซอฟท์เก็บจากการใช้งานผลิตภัณฑ์และบริการของเรา และสามารถแก้ไข ลบ หรือถ่ายโอนข้อมูลทั้งหมดไปจัดเก็บที่อื่นได้โดยอิสระ ฟังก์ชันการตรวจสอบ แก้ไข ลบ และโยกย้ายข้อมูลส่วนตัวทั้งหมดนี้ สามารถเรียกใช้งานได้ทางแดชบอร์ดความเป็นส่วนตัว (Privacy Dashboard) ที่เว็บไซต์ https://account.microsoft.com/privacy/ ส่วนข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการในการรองรับ GDPR และเครื่องมือช่วยเหลือสำหรับองค์กรที่ต้องการปฏิบัติงานตามกรอบข้อบังคับใหม่นี้ สามารถค้นหาเพิ่มเติมได้ที่ https://www.microsoft.com/GDPR/ 

ผู้สนใจสามารถค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมและเจาะลึกรายละเอียดความสามารถด้าน AI ของแพลตฟอร์มคลาวด์ ไมโครซอฟท์ อาซัวร์ พร้อมรับข้อเสนอทดลองใช้ฟรีได้ที่ https://azure.microsoft.com/


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 พ.ค. 2561 เวลา : 14:11:00
07-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 7, 2024, 1:47 pm