เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2562 - 2564) และกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561


แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2562 – 2564) และกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ  ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ .. 2561

คณะรัฐมนตรีในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 ได้มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลางตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ (คณะกรรมการฯ) เสนอโดยแผนการคลังระยะปานกลางเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ .. 2561 (... วินัยการเงินการคลังฯ) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2561 เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทหลักสำหรับการวางแผนการดำเนินการทางการเงินการคลังและงบประมาณของรัฐ รวมทั้งแผนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี และแผนการบริหารหนี้สาธารณะ โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ และหลังจากนั้นต้องมีการทบทวนและจัดทำให้แล้วเสร็จภายในสามเดือนนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณทุกปี โดยเมื่อคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลางแล้ว ให้นำแผนการคลังระยะปานกลางมาประกอบการพิจารณาในการจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี รวมทั้งให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐ 

 

 

แผนการคลังระยะปานกลางประกอบด้วย (1) เป้าหมายและนโยบายการคลัง (2) สถานะและการประมาณการเศรษฐกิจ (3) สถานะและประมาณการการคลัง ซึ่งรวมถึงประมาณการรายได้ ประมาณการรายจ่าย ดุลการคลังและการจัดการกับดุลการคลังนั้น (4) สถานะหนี้สาธารณะของรัฐบาล และ (5) ภาระผูกพันทางการเงินการคลังของรัฐบาลและได้กำหนดเป้าหมายนโยบายการคลังในระยะปานกลางเพื่อเข้าสู่การจัดทำงบประมาณแบบสมดุลในระยะยาว ดังนั้น รัฐบาลควรมุ่งบริหารรายได้และรายจ่ายให้อยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง โดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีและการปรับอัตราภาษีที่เหมาะสมเพื่อให้รายได้รวมเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันจะต้องจำกัดการขยายตัวของรายจ่ายในภาพรวม โดยเฉพาะรายจ่ายประจำและเพิ่มสัดส่วนของรายจ่ายลงทุนให้สูงขึ้นด้วย

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบการกำหนดสัดส่วนเพื่อใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะตามมาตรา 50 แห่ง ... วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่งประกอบด้วยตัวชี้วัด 4 ด้าน ดังนี้ (1) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ต้องไม่เกินร้อยละ 60 (2) สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ ต้องไม่เกินร้อยละ 35 (3) สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด ต้องไม่เกินร้อยละ 10 และ (4) สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ ต้องไม่เกินร้อยละ 5 โดยในการพิจารณากำหนดสัดส่วนข้างต้นได้พิจารณาถึงความยั่งยืนทางการคลัง การกำกับการกู้เงินให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง การบริหารหนี้สาธารณะให้มีต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม ความสอดคล้องกับแผนการคลังระยะปานกลาง ตลอดจนมีการเปรียบเทียบแนวปฏิบัติในทางสากล ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะรายงานสถานะหนี้สาธารณะคงค้างและสัดส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นจริงต่อคณะกรรมการฯ และ ครม. เพื่อทราบภายใน 60 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนมีนาคมและกันยายนของทุกปี


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 พ.ค. 2561 เวลา : 20:54:05
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 6:14 pm