อสังหาริมทรัพย์
Coworking space อนาคตสดใส


JLLเผยธุรกิจโคเวิร์คกิ้งสเปซ ในกรุงเทพฯ แนวโน้มเติบโตก้าวกระโดด เผยผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศจ่อเปิดตัวอีกหลายราย เจาะกลุ่มลูกค้าองค์กร ตั้งแต่รายเล็ก ยันรายใหญ่

รายงานจากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ JLLระบุว่า ธุรกิจ Coworking space(โคเวิร์คกิ้งสเปซหรือที่นั่งทำงานร่วมให้เช่า รายใหญ่จากต่างประเทศที่เข้ามาเปิดธุรกิจ และเตรียมพื้นที่สำหรับเปิดธุรกิจในกรุงเทพฯ แล้ว ได้แก่Spaces มีสาขาที่อาคารจตุรัสจามจุรี (และซัมเมอร์ฮิลล์ คอมมิวตี้มอลล์ย่านพระโขนง), Justco เปิดสาขาแรกแล้วที่อาคารเอไอเอ สาทร ทาวเวอร์ และกำลังเตรียมเปิดอีกสาขาที่อาคารแคปปิตอล ทาวเวอร์ (ออล ซีซั่นส์ เพลส), WeWork เตรียมเปิดสาขาแรกที่อาคารเอเชีย เซ็นเตอร์ และ The Great Room ซึ่งจะเปิดสาขาแรกที่อาคารเกษร ทาวเวอร์ในเดือนนี้

 


 

นางสาวยุพา เสถียรภาพอยุทธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการธุรกิจอาคารสำนักงาน JLLเปิดเผยว่า "ผู้ประกอบการโคเวิร์คกิ้งสเปซรายใหญ่จากต่างประเทศ ล้วนเลือกเช่าพื้นที่เพื่อเปิดธุรกิจในอาคารสำนักงานเกรดเอในย่านศูนย์กลางธุรกิจ โดยส่วนใหญ่เช่าพื้นที่ขนาด 3,000 ตารางเมตรขึ้นไปสำหรับแต่ละสาขา นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเหล่านี้บางรายยังมีแผนขยายสาขาเพิ่มอีกจำนวนมาก"


"ผู้ประกอบการโคเวิร์คกิ้งสเปซจากต่างชาติอีกหลายรายอยู่ระหว่างเตรียมเข้ามาเปิดธุรกิจในกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และมาเลเซีย และกำลังมองหาพื้นที่เช่าขนาด 2,000-3,000 ตารางเมตรในอาคารสำนักงานเกรดเอนางสาวยุพากล่าว

ในอดีต โคเวิร์คกิ้งสเปซที่เปิดให้บริการในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการไทยเกือบทั้งหมด โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือบริษัทสตาร์ทอัพและบริษัทเอสเอ็มอีที่มีจำนวนพนักงานน้อยและไม่จำเป็นต้องมีออฟฟิศเต็มรูปแบบ รวมไปจนถึงกลุ่มคนทำงานอิสระที่ต้องการที่นั่งทำงานซึ่งมีความสะดวกและสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานได้ดีกว่าการนั่งทำงานที่บ้าน ตลอดจนถึงการมีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจากหลากหลายสาขาอาชีพหรือจากสาขาอาชีพที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้น โคเวิร์คกิ้งสเปซที่มีอยู่ตั้งแต่ช่วงแรกๆ มักเปิดบริการอยู่ในตึกขนาดเล็กถึงขนาดกลาง รวมไปจนถึงศูนย์การค้า มีผู้ประกอบการจำนวนไม่มากนักที่เช่าพื้นที่อาคารสำนักงานเพื่อเปิดบริการ แบรนด์ต่างชาติ อาทิ Launchpad ที่อาคารเศรษฐีวรรณ และ BIGWork ที่สาธรนครทาวเวอร์ ส่วนตัวอย่างแบรนด์ไทย ได้แก่ Glowfish ที่อโศกทาวเวอร์และอาคารสาธรธานี, Draft Board ที่อาคารอรกานต์, Kloud ที่อาคารฟลอริช และ Meticulous Offices ที่เอสเอสพีทาวเวอร์


นางสาวยุพากล่าวว่า "สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างชาติที่เข้ามาเปิดบริการและที่กำลังจะตามมาอีก มีกลุ่มเป้าหมายหลักอยู่ที่ลูกค้าประเภทองค์กร ทั้งบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางที่ต้องการใช้โคเวิร์คกิ้งสเปซเป็นสำนักงานหลัก ไปถึงบริษัทขนาดใหญ่ ที่สามารถใช้โคเวิร์คกิ้งสเปซเป็นสำนักงานย่อย หรือสำรองที่นั่งทำงานไว้สำหรับให้พนักงานที่มักไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ ให้สามารถเข้าไปใช้ได้

โดยผู้ประกอบการโคเวิร์คกิ้งสเปซเหล่านี้บางราย สามารถจัดสรรที่นั่งทำงานให้ตรงตามความต้องการขององค์กรลูกค้ามากที่สุด ไม่ว่าจะในเรื่องของความเป็นสัดเป็นส่วน ตลอดไปจนถึงอัตลักษณ์ขององค์กร แต่ทั้งนี้ ยังคงคอนเซ็ปต์ของโคเวิร์คกิ้งสเปซไว้ คือ การมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไว้ให้ลูกค้าใช้ร่วมกัน และการออกแบบพื้นที่ให้ลูกค้าต่างรายยังคงมีโอกาสมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้"

JLL คาดว่า โคเวิร์คกิ้งสเปซจะเป็นที่นิยมของลูกค้าระดับองค์กรมากขึ้น ไม่เพียงเพราะเป็นรูปแบบที่นั่งทำงานซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดสังคมของการทำงานร่วมกันเท่านั้น แต่ยังมีความยืดหยุ่นสูงด้วย โดยบริษัทที่ใช้โคเวิร์คกิ้งสเปซเป็นสำนักงานหรือที่ทำงาน ไม่จำเป็นต้องลงทุนตกแต่งสำนักงานเอง และไม่ต้องผูกพันกับสัญญาเช่ายาว จึงสามารถย้ายออกได้ง่ายกว่าการเช่าสำนักงานแบบเดิม นอกจากนี้ รูปแบบการให้บริการแบบสมาชิก ยังเปิดโอกาสให้สามารถปรับเพิ่มหรือลดจำนวนที่นั่งได้ตามการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของจำนวนพนักงานที่มีอยู่จริง

นางสาวยุพากล่าวว่า "กระแสการเติบโตของที่ทำงานรูปแบบใหม่นี้ ทำให้เจ้าของอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ เริ่มสนใจแนวคิดการปรับพื้นที่บางส่วนในอาคารเป็นโคเวิร์คกิ้งสเปซ ซึ่งต่างจากเมื่อ 3-4 ปีที่แล้วที่ไม่มีเจ้าของอาคารสำนักงานสนใจแนวคิดนี้เลย อย่างไรก็ดี การบริหารจัดการต้องอาศัยความเชี่ยวชาญที่ต่างจากการให้เช่าพื้นที่สำนักงานรูปแบบเดิม ทำให้ในเบื้องต้นนี้เจ้าของอาคารสนใจที่จะหาผู้ประกอบการโคเวิร์คกิ้งสเปซเข้ามาเป็นหุ้นส่วนมากกว่าที่จะเป็นผู้ดำเนินการเอง"

รายงานการวิจัยจาก JLL ระบุว่า สถานที่ทำงานที่มีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งหมายรวมถึงเซอร์วิสออฟฟิศและโคเวิร์คกิ้งสเปซ กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หมาย ทำให้ธุรกิจนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็วทั่วโลก โดยเฉพาะเอเชียแปซิฟิก ซึ่งนับเป็นภูมิภาคที่มีการขยายตัวของเซอร์วิสออฟฟิศและโคเวิร์คกิ้งสเปซรวดเร็วที่สุดในโลก โดยในปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตที่ 35.7% เทียบกับอเมริกาและยุโรปที่มีการขยายตัว 25.7% และ 21.6% ตามลำดับ นอกจากนี้ JLL ยังคาดการณ์ด้วยว่า ภายในปี 2573 โคเวิร์คกิ้งสเปซจะมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 30% ของพื้นที่สำนักงานทั่วโลก

"แม้การใช้โคเวิร์คกิ้งสเปซเป็นที่ทำงานจะเป็นแนวคิดที่ยังใหม่สำหรับบริษัทส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ แต่จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในเมืองต่างๆ ทั่วโลกที่มีพัฒนาการไปไกลกว่า พบว่า ที่ทำงานรูปแบบนี้กำลังได้รับความนิยมในหมู่ลูกค้าระดับองค์กร จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าประหลาดใจหากโคเวิร์คกิ้งสเปซจะได้รับความนิยมในกรุงเทพฯ ด้วยเช่นกัน"   


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 มิ.ย. 2561 เวลา : 17:37:25
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 7:38 pm