เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ส่งบทวิเคราะห์ เรื่อง จับสัญญาณหนี้ครัวเรือนไทย


EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ขอนำส่งบทวิเคราะห์ (EIC In Focus) เรื่อง จับสัญญาณหนี้ครัวเรือนไทย

สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ครัวเรือนในช่วงปี 2015-2017 ไม่ได้ลดลงอย่างที่แสดงในสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP  แม้ว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะลดลงเล็กน้อยในช่วงปี 2016-2017 ซึ่งทำให้หลายฝ่ายประเมินว่าสถานการณ์หนี้ของครัวเรือนไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่จากการวิเคราะห์ของอีไอซีจากข้อมูลการสำรวจครัวเรือนล่าสุดกลับให้ภาพตรงกันข้าม สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ของครัวเรือนที่มีหนี้ในทุกกลุ่มรายได้เพิ่มขึ้นจาก 83% ในปี 2015 เป็น 95% ในปี 2017 หรือเพิ่มขึ้น 12% โดยสาเหตุมาจากมูลค่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นและรายได้ของครัวเรือนที่ลดลง ยกเว้นในกลุ่มครัวเรือนรายได้สูงที่รายได้ปรับสูงขึ้นเล็กน้อยแต่ก็ยังต่ำกว่ามูลค่าหนี้ที่เพิ่มขึ้น

 

 

ครัวเรือนรายได้น้อยน่ากังวลกว่าครัวเรือนกลุ่มอื่น จากสัดส่วนหนี้ต่อสินทรัพย์ที่สูง และความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาท/เดือน อยู่ในสถานะที่น่ากังวลกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากสัดส่วนหนี้ต่อสินทรัพย์ที่เติบโตสูงและอยู่ที่ 108% ในปี 2017 ซึ่งหมายความว่า แม้ครัวเรือนจะแปลงสินทรัพย์ทั้งหมดมาชำระหนี้ ก็ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมดนอกจากนี้ ครัวเรือนในกลุ่มรายได้นี้ยังมีความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลงมากที่สุด โดย Debt Service Ratio (DSR) เพิ่มจาก 35% ในปี 2015 เป็น 38% ในปี 2017 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นที่มากกว่าครัวเรือนในกลุ่มรายได้อื่นๆ โดย DSR ที่สูงขึ้นของครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาท/เดือน มาจากการกู้ยืมที่มากขึ้น และรายได้ที่ไม่ขยายตัว

มีเพียงสถานะทางการเงินของครัวเรือนที่ไม่มีหนี้ในกลุ่มรายได้มากกว่า 50,000 บาท/เดือน ที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วง 2015-2017 ครัวเรือนที่ไม่มีหนี้และมีรายได้มากกว่า 50,000 บาท/เดือน ยังมีสถานะทางการเงินที่ดี โดยมีรายได้ สินทรัพย์ทางการเงิน และการบริโภคที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความต้องการที่จะกู้ยืมเงินเพื่อใช้ในการลงทุน โดยมีถึง 31% ของครัวเรือนที่ไม่มีหนี้ในกลุ่มรายได้มากกว่า 50,000 บาท/เดือน ที่มีความต้องการจะกู้ยืมเงินแต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้

อย่างไรก็ดี สถานการณ์หนี้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2018 น่าจะคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น อีไอซีคาดว่า ในปี 2018 รายได้ของครัวเรือนโดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อยจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยรายได้ภาคเกษตรขยายตัวที่ 10.3%YOY ในเดือนพฤษภาคม[1] และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และราคาผลผลิตที่ดีกว่าปีก่อนหน้า ประกอบกับค่าจ้างแรงงานนอกภาคเกษตรที่ขยายตัวเฉลี่ย 4.2%YOY ในเดือนเมษายน 2018 นอกจากนี้ จำนวนการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 เดือนหลังจากที่หดตัวมาเป็นช่วงเวลาหนึ่ง นับเป็นสัญญาณที่ดีต่อการบรรเทาปัญหาการแบกรับภาระหนี้ครัวเรือนในปี 2018


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ก.ค. 2561 เวลา : 16:16:45
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 6:29 pm