เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
คลังต่อรองกู้เงินเอดีบี 3.4พันล้านรักษาผลประโยชน์ประเทศ


อำนาจในการต่อรองของประเทศไทยมีมากขึ้น  หลังจากที่มีการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจ  ทำให้การกู้เงินกับเอดีบีครั้งล่าสุด   ไทยสามารถกำหนดเงื่อนไขการใช้เงินกู้ได้ดีกว่าช่วงที่ผ่านมา 


        

 

โดยนายอภิศักดิ์   ตันติวรวงศ์   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ร่วมลงนามสัญญาเงินกู้กับธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เพื่อนำมาพัฒนาโครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ทางหลวงหมายเลข 22 ช่วงอำเภอหนองหาน-อำเภอพังโคน ช่วงสกลนคร-นครพนม (กิโลเมตรที่ 180-213) และทางหลวงหมายเลข 23 ช่วงร้อยเอ็ดยโสธร (โครงการ) ของกรมทางหลวง โดยมีกรอบวงเงินไม่เกิน 99.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 3,404 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 50% ของงบลงทุนโครงการรวมที่ 6,808 ล้านบาท โดยอีก 50% จะใช้เงินงบประมาณ

 

         

ทั้งนี้ไทยไม่ได้กู้เอดีบีมานานแล้ว 8-9 ปี  เพราะการกู้เงินต้องเบิกเงินทีละก้อนจากเอดีบี และบางช่วงเมื่อแปลงค่าเงินเป็นบาท  ทำให้ได้ดอกเบี้ยแพง จึงได้เจรจาขอเบิกเงินเป็นก้อนเดียว  ซึ่งจะสามารถทำสวอปได้อัตราดอกเบี้ยใกล้เคียงกับการออกพันธบัตรในประเทศ  ทำให้เป็นประโยชน์กับประเทศไทยที่มีต้นทุนที่ถูกลง  ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกที่มีการเบิกเงินกู้ก้อนเดียว  สำหรับอัตราดอกเบี้ยที่กู้ใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมระหว่างธนาคารพาณิชย์ ตลาดการเงินที่กรุงลอนดอน หรือ LIBOR หรือใกล้เคียง 2.5% โดยระยะเวลาการกู้ประมาณ 13 ปี  หลังจากกู้เงินมาแล้วจะทยอยส่งมอบให้กระทรวงคมนาคมนำไปใช้ตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการ

 

        

 

 

นายอาคม  เติมพิทยาไพสิฐ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การขยายโครงข่ายถนนสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร ในทางหลวงหมายเลข 22 และ 23 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565  ช่วยสนับสนุนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงอาเซียนหมายเลข 15 (AH15) ในส่วนที่ผ่านประเทศไทย เพื่อให้สามารถเดินทางและขนส่งสินค้าเชื่อมโยงไปยังกลุ่มประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี) และยังเชื่อมต่อไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนตอนใต้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นโครงข่ายที่สนับสนุนแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 (เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม และเขตเศษรฐกิจพิเศษหนองคาย) และพัฒนาเส้นทางโครงข่ายเชื่อมโยงพื้นที่ด่านชายแดนช่องเม็ก .อุบลราชธานี กับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (อีสต์เวสต์อีโคโนมิกคอริดอร์) ที่คาดว่าจะมีปริมาณจราจรเพิ่มสูงขึ้นจากการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

 

 

 

      

นายราเมช สุบรามาเนียม ผู้อำนวยการสำนักเอเชียตะวันออกเฉียง เอดีบี กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย การปรับปรุงโครงข่ายถนนของประเทศจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและทำให้ประชาชนเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและการบริการภาคสังคมได้ดียิ่งขึ้น  นอกจากนั้น ยังช่วยให้ไทยกลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้าและเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง  

ซึ่งครั้งนี้ เอดีบีได้จัดสรรเงินกู้ภาครัฐ (sovereign lending) แก่ประเทศไทยโดยใช้วิธีบริหารจัดการการเงินแบบพิเศษ (special financing arrangement) เป็นครั้งแรก   เพื่อสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 ก.ค. 2561 เวลา : 10:41:48
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 2:25 pm