ข่าวประชาสัมพันธ์
ผลสำรวจเรื่อง ปรากฏการณ์ที่คนไทยเห็นจาก ปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิต...ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน


คนไทยร้อยละ 91.2 ระบุว่าปรากฏการณ์ที่ประทับใจมากที่สุด จากปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิต ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน คือได้เห็นความสามัคคี ความมีน้ำใจและความช่วยเหลือจากคนไทยด้วยกันทั้งชาวบ้านและจิตอาสา โดยร้อยละ 52.0 อยากแทนความสำเร็จของการค้นหา 13 ชีวิต ด้วยคำว่าขอบคุณความเสียสละและความช่วยเหลือจากทุกฝ่ายทั้งนี้บทเรียนหรือข้อคิดที่คนไทยได้จากปฏิบัติการครั้งนี้คือ ทุกภาคส่วนที่เข้ามาช่วยเหลือต้องปฏิบัติงานร่วมกันในเชิงบูรณาการจึงสำเร็จ

จากข่าวการปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิต ทีมหมูป่าอะคาเดมี ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงรายในขณะนี้ กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่องปรากฏการณ์ที่คนไทยเห็นจาก ปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิต...ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอนโดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,198 คน พบว่า

ปรากฏการณ์ที่คนไทยเห็นและประทับใจมากที่สุด จากปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิต ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน คือ ได้เห็นความสามัคคี ความมีน้ำใจและความช่วยเหลือจากคนไทยด้วยกันทั้งชาวบ้านและจิตอาสา ร้อยละ 91.2 รองลงมาคือ เห็นการอาสาเข้าช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์จากนานาชาติ ร้อยละ 80.8 และเห็นความความช่วยเหลือจากองค์กรและหน่วยงานต่างๆ เช่น การเดินสายไฟ เครื่องสูบน้ำ เครื่องเจาะบาดาล การวางถังออกซิเจน ฯลฯ ร้อยละ 76.9 นอกจากนี้ยังเห็นถึงความกระตือรือร้นของภาครัฐทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ นายกฯ ผู้ว่า ตำรวจ ทหาร ร้อยละ 76.2 และเห็นประชาชนทั่วประเทศร่วมเกาะติดสถานการณ์และส่งใจไปช่วยทหารหน่วย ซีล ในการช่วยเหลือ 13 ชีวิต ร้อยละ 68.4

 


 

ทั้งนี้ความสำเร็จของการค้นหา 13 ชีวิตครั้งนี้ คนไทยส่วนใหญ่อยากแทนด้วยคำพูดว่าขอบคุณความเสียสละและความช่วยเหลือจากทุกฝ่ายร้อยละ 52.0 รองลงมาคือคนไทยไม่ทิ้งกันร้อยละ 31.0 และสุดยอดมากร้อยละ 6.9

สำหรับบทเรียนที่คนไทยได้จากปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิต ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน คนไทยส่วนใหญ่ระบุว่า ความสำเร็จในการช่วยเหลือ 13 ชีวิต ในถ้ำหลวง เกิดจากการปฏิบัติงานร่วมกันในเชิงบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน ร้อยละ 39.0 รองลงมาระบุว่า ความรวดเร็วในการให้ความช่วยเหลือกันและกันจากสังคมทั่วโลกในยามคับขันเป็นสิ่งสำคัญและมีค่า ร้อยละ 31.0 และระบุว่าผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ร้อยละ 14.5

โดยมีรายละเอียดตามประเด็นข้อคำถาม ดังต่อไปนี้

1. ปรากฏการณ์ที่เห็นและประทับใจ จากปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิต ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน

* ความสามัคคี ความมีน้ำใจและความช่วยเหลือจากคนไทยด้วยกัน ทั้งชาวบ้านและจิตอาสา ร้อยละ 91.2

* ความอาสาเข้าช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์จากนานาชาติ ร้อยละ 80.8

* ความช่วยเหลือจากองค์กรและหน่วยงานต่างๆ เช่น การเดินสายไฟ เครื่องสูบน้ำ

เครื่องเจาะบาดาล วางถังออกซิเจน ฯลฯ ร้อยละ 76.9

* ความกระตือรือร้นของภาครัฐทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ นายกฯ ผู้ว่า ตำรวจ ทหาร ร้อยละ 76.2

* ประชาชนทั่วประเทศร่วมเกาะติดสถานการณ์และส่งใจไปช่วยทหารหน่วย ซีล ในการ

ช่วยเหลือ 13 ชีวิต ร้อยละ 68.4

* ความรวดเร็วในการทำข่าว รายงานสถานการณ์สดจากพื้นที่ ของสื่อมวลชน ร้อยละ 65.0

* การแสดงออกเชิงจิตวิทยาในความพยายามช่วยเหลือ เช่น การร่วมสวดมนต์ ขอพร

จากทุกศาสนา การทำพิธีกรรมต่างๆ ฯลฯ ร้อยละ 55.5

2. ความสำเร็จของการค้นหา 13 ชีวิต ครั้งนี้ คิดว่าอยากแทนด้วยคำพูดใด

* ขอบคุณความเสียสละและความช่วยเหลือจากทุกฝ่าย ร้อยละ 52.0

* คนไทยไม่ทิ้งกัน ร้อยละ 31.0

* สุดยอดมาก ร้อยละ 6.9

* เราไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ร้อยละ 3.5

* “ฮีโร่มีอยู่จริงบนโลกใบนี้ ร้อยละ 2.7

* เอาใจไปเลย ร้อยละ 2.6

* อื่นๆ อาทิ ดีใจมากๆ โชคดีจังที่เจอ ร้อยละ 1.3

3. บทเรียนที่คนไทยได้จากปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิต ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน คือ

* ทุกภาคส่วนที่เข้ามาช่วยเหลือต้องปฏิบัติงานร่วมกันในเชิงบูรณาการจึงสำเร็จ ร้อยละ 39.0

* ความรวดเร็วในการให้ความช่วยเหลือกันและกันในสังคมทั่วโลกในยามคับขันเป็นสิ่ง

สำคัญและมีค่า ร้อยละ 31.0

* ผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ

หลากหลายสาขา ร้อยละ 14.5

* ความพร้อมของอุปกรณ์เป็นเรื่องสำคัญ ในการช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยหรือเหตุการณ์ที่

ไม่คาดคิด ร้อยละ 10.4

* การนำเสนอข่าวจากแหล่งข่าวที่หลากหลาย มีผลต่อการรับรู้ที่คลาดเคลื่อน สับสน ร้อยละ 5.1

รายละเอียดการสำรวจ

วัตถุประสงค์การสำรวจ

เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เห็นและประทับใจจากปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิตในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน คำพูดที่อยากบอกแทนความสำเร็จของการค้นหา 13 ชีวิต และบทเรียนที่ได้รับจากเหตุการณ์นี้ เพื่อสะท้อนมุมมองความคิดเห็นของประชาชนให้สังคมและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ

ประชากรที่สนใจศึกษา

การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป โดยการสุ่มสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากฐานข้อมูลของกรุงเทพโพลล์ ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) แล้วใช้วิธีการถ่วงน้ำหนักด้วยข้อมูลประชากรศาสตร์จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error)

การประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน ± 3% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

วิธีการรวบรวมข้อมูล

ใช้การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ (Enumeration by telephone) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) และได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล

ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล : 3-5 กรกฎาคม 2561

วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ : 7 กรกฎาคม 2561

ข้อมูลของกลุ่มตัวอย่าง

จำนวน ร้อยละ

เพศ

ชาย 588 49.1

หญิง 610 50.9

รวม 1,198 100.0

อายุ

18 ปี - 30 ปี 130 10.9

31 ปี - 40 ปี 256 21.4

41 ปี - 50 ปี 307 25.6

51 ปี - 60 ปี 283 23.6

61 ปี ขึ้นไป 222 18.5

รวม 1,198 100.0

การศึกษา

ต่ำกว่าปริญญาตรี 712 59.4

ปริญญาตรี 381 31.8

สูงกว่าปริญญาตรี 105 8.8

รวม 1,198 100.0

อาชีพ

ลูกจ้างรัฐบาล 188 15.7

ลูกจ้างเอกชน 260 21.7

ค้าขาย/ ทำงานส่วนตัว/ เกษตรกร 461 38.5

เจ้าของกิจการ/ นายจ้าง 70 5.9

พ่อบ้าน/ แม่บ้าน/ เกษียณอายุ 188 15.7

นักเรียน/ นักศึกษา 11 0.9

ว่างงาน/ รวมกลุ่ม 20 1.6

รวม 1,198 100.0


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 ก.ค. 2561 เวลา : 09:38:26
04-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 4, 2024, 2:50 pm