การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
บอร์ด สปสช.ดูแลสุขภาพคนไทย อนุมัติสิทธิประโยชน์ ยา-วัคซีน 3 รายการ เริ่มปี 62


บอร์ด สปสช.อนุมัติปี 62 เพิ่มวัคซีน-ยา 3 รายการ บรรจุสิทธิประโยชน์ใหม่บัตรทอง ทั้งวัคซีนรวมป้องกัน 5 โรค กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี, ยาป้องกันการถ่ายทอด HIV แม่สู่ลูกในกลุ่มหญิงอายุครรภ์มาก และยารักษาโรคหลอดเลือดดำในจอตาอุดตัน ผลประเมินคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ไม่เป็นภาระงบประมาณ ขยายครอบคลุมการรักษาและบริการสุขภาพที่จำเป็น

 

 

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 2กรกฎาคม 2561 โดยมี .คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้เห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์ยาและวัคซีน บรรจุเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 3 รายการ ในปีงบประมาณ 2562 ตามข้อเสนอคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ คือ 1.วัคซีนรวม คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ไวรัสตับอักเสบบี และโรคจากเชื้อฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนเซ่ ชนิดบี (Haemophilus influenzae type b) 2.ยาราลทิกราเวียร์ (Raltegravir) เพื่อขยายการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก และ 3.ยาบีวาซิซูแมบ (Bevacizumab) เพื่อรักษาโรคหลอดเลือดดำในจอตาอุดตัน

ทั้งนี้ในส่วนวัคซีนรวม คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ไวรัสตับอักเสบบี และโรคจากเชื้อฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนเซ่ ชนิดบี (DTP-HB-Hib) เพื่อป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ติดเชื้อในกระแสเลือด, ปอดอักเสบ ฝาปิดกล่องเสียงอักเสบ, เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบและฝีในสมองที่เกิดจากเชื้อไวรัสฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนเซ่ ชนิดบี ในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยจากการศึกษาพบว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เพราะทำให้มีคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้น เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเพิ่มเพื่อให้จำนวนปีที่มีสุขภาวะเพิ่มขึ้น (Incremental Cost Effectiveness Ratio: ICER) ที่ราคา 148.51 บาท/โดส และจากการต่อรองราคาวัคซีนโดยคณะทำงานต่อรองราคาวัคซีน DTP-HB-Hib ได้ราคาลดลงอยู่ที่ 47 บาท/โดส หรือคิดเป็น 141 บาท/คอร์ส คิดเป็นงบประมาณรวม 3 กองทุนหลักประกันสุขภาพ ทั้งสวัสดิการข้าราชการ, ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ต้องจ่ายเพิ่มเป็นจำนวน 15.98 ล้านบาท แต่สามารถลดจำนวนผู้ป่วย และช่วยประหยัดงบค่ารักษาพยาบาลได้เฉพาะในส่วนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่สูงถึง 73.27 ล้านบาท/ปี จึงมีความคุ้มค่า

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ส่วนการขยายสิทธิประโยชน์ยาราลทิกราเวียร์นั้น เนื่องจากในหญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์มาก การใช้ยาเดิมเพื่อลดอัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกจะมีประสิทธิผลต่ำ แต่หากใช้ยาราลเท็คกราเวียร์ทดแทนจะทำให้การป้องกันการถ่ายทอดเชื้อมีประสิทธิผลเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้จากการคาดการณ์หญิงตั้งครรภ์ที่ต้องรับยาราลทิกราเวียร์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีจำนวน 693 ราย อัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกจะลดลงอยู่ที่ 27 ราย หรือร้อยละ 3.9 ซึ่งในกรณีที่ใช้ยาเดิมป้องกัน อัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกจะอยู่ที่ 53 ราย หรือร้อยละ 7.6 หรือ โดยมีค่าใช้จ่ายยาอยู่ที่ 6,792.80-10,189.20 บาท/คน/คอร์ส เมื่อคำนวณงบประมาณโดยรวมทั้งหมด เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจำนวน 5.12-7.47 ล้านบาท โดยเรื่องผลการศึกษาความคุ้มค่านั้นมีอยู่แล้ว เพราะเป็นยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ 

          สำหรับยาบีวาซิซูแมบ เป็นการเพิ่มข้อบ่งชี้เพื่อรักษาโรคหลอดเลือดดำในจอตาอุดตันในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจากข้อมูลความชุกของโรคตามอุบัติการณ์ที่แท้จริง แต่ละปีมีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาและได้รับยาบีวาซิซูแมบอยู่ที่ 10,800 ราย ได้รับการฉีดยาบีวาซิซูแมบยาเฉลี่ย 4 ครั้ง/คน/ปี ค่าใช้จ่ายยาอยู่ที่ 606.33 บาท/โดส หรือ 2,425.32 บาท/คอร์ส คิดเป็นค่าใช้จ่ายโดยรวม 26.19 ล้านบาท อย่างไรก็ตามเมื่อวิเคราะห์โดยดูข้อมูลการเบิกจ่ายจริงในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ งบประมาณที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมจะอยู่ที่ 4.49ล้านบาท (จากข้อมูลบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) - 20.17 ล้านบาท (จากข้อมูลความชุกของโรคเป็นค่าใช้จ่ายที่รับได้เมื่อเปรียบเทียบการเข้าถึงการรักษาที่ครอบคลุมเพิ่มขึ้นให้กับผู้ป่วย

ยาและวัคซีนทั้ง 3 รายการที่เพิ่มใหม่นี้ เริ่มในปีงบประมาณ 2562 ซึ่งการเพิ่มสิทธิประโยชน์ยาและวัคซีนภายใต้ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะต้องผ่านความเห็นชอบ ทั้งจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ และอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขฯ และอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารจัดการกองทุนฯ ของ สปสช. ก่อนนำเสนอต่อบอร์ด สปสช.เพื่อพิจารณาอนุมัติ ทำให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลและผลกระทบอย่างรอบด้าน ทั้งอุบัติการณ์และภาระโรค ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของยาและวัคซีน ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ภาระงบประมาณ รวมถึงความพร้อมหน่วยบริการ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทำให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนเลขาธิการ สปสช. กล่าว


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ก.ค. 2561 เวลา : 13:01:09
16-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 16, 2024, 5:36 pm