การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
นายกรัฐมนตรี เปิดการประชุมวิชาการ 100 ปี การสาธารณสุขไทย และงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 15


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดการประชุมวิชาการและมหกรรมการแสดงผลงาน 100 ปี การสาธารณสุขไทยภายใต้แนวคิดเพื่อประชาชนสุขภาพดี 100 ปี แห่งการพัฒนาและงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 15 พร้อมปาฐกถาในหัวข้อมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อสุขภาพคนไทย

 

 

 

 ที่อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานเปิดการประชุมวิชาการและมหกรรมการแสดงผลงาน 100 ปี การสาธารณสุขไทย เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี การสาธารณสุขไทย ภายใต้แนวคิดเพื่อประชาชนสุขภาพดี 100 ปี แห่งการพัฒนาและงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 15 โดยมีพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมพิธี

 

 

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีการสาธารณสุขไทย ในหัวข้อมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อสุขภาพคนไทยความว่า ในช่วงการดำเนินงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เราสามารถใช้ประสบการณ์ความสำเร็จของนโยบายสุขภาพของประเทศในการแสดงบทบาทการเป็นผู้นำของประเทศไทยในเวทีระดับภูมิภาค และระดับโลก เช่น การลดการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีเอดส์ การสร้างหลักประกันสุขภาพแบบถ้วนหน้า การต่อสู้กับเชื้อดื้อยา(antimicrobial resistance -AMR) และการรณรงค์ใช้ยาอย่างเหมาะสม (rational drug use) การสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนผ่านการส่งเสริมการออกกำลังกาย (physical activity) และการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ (food safety) รวมทั้งนโยบายการดูแลสุขภาพของผู้อพยพย้ายถิ่นและแรงงานข้ามชาติภายใต้หลักการของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง(leaving no-one behind)  

 

 

สำหรับการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนให้กับระบบสุขภาพและสังคมไทย ได้สนับสนุนการแพทย์แผนไทยและการใช้สมุนไพรไทย นำเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพ เพิ่มทางเลือกให้ประชาชน ให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป จัดบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกแบบครบวงจร สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติของประเทศไทย สร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของประเทศ

 

 

ในช่วงศตวรรษที่สอง กระทรวงสาธารณสุขและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ยังมีงานท้าทายอีกหลายอย่าง เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรไปสู่สังคมผู้สูงอายุ ความรุนแรงในครอบครัวและสังคม การใช้สารเสพติดของเยาวชน ปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ และความยั่งยืนทางด้านการเงินการคลังของระบบบริการสุขภาพ ซึ่งรัฐบาลไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านสาธารณสุข มุ่งเน้นการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ 4 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การบริการ บุคลากร และการบริหารจัดการ บรรลุเป้าหมาย “ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุขระบบสุขภาพยั่งยืน”  

 

 

นอกจากนี้ รัฐบาล ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระบบสุขภาพ ตามแนวคิด “คนดี มีคุณค่า มีความสุข” เพื่อนำพาประเทศสู่  Thailand 4.0  โดยจะเร่งรัดพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้วย 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความมั่นคง อาทิ การปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิ มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนครบทุกครัวเรือนภายใน 10 ปี การดูแลระยะยาว (Long term care) ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น การดูแลผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างความมั่งคั่ง อาทิ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร การพัฒนาเขตสุขภาพพิเศษ และสร้างสมดุลในการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน (Green Growth Engine)โดยพัฒนาโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 959 แห่ง เพื่อลดมลพิษ ลดการใช้พลังงาน ลดภาวะโลกร้อน

ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงาน องค์กร และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จากทุกสังกัดและทุกภาคส่วน เป็นการฉลองวาระครบรอบ 100 ปีของการเกิดระบบการสาธารณสุขขึ้นในประเทศไทย เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงประชาชนที่มาร่วมงาน ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เข้าใจพัฒนาการของการสาธารณสุขไทย และเชิดชูบุคคลสำคัญด้านการสาธารณสุขไทยในอดีต พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ทางวิชาการ เปิดโอกาสให้บุคลากรได้เผยแพร่องค์ความรู้ใหม่ๆ ผลงาน นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัยทางการแพทย์และสาธารณสุข สู่เวทีสาธารณะ ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเองอย่างถูกต้อง           

กิจกรรมในงานประกอบด้วย 3 กิจกรรม ได้แก่ 1.มหกรรมแสดงผลงาน 100 ปี การสาธารณสุขไทย 2.งานประกวดผลงานวิชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจำนวน2,142 เรื่อง แบ่งเป็น การนำเสนอผลงานด้วยวาจา 745 เรื่อง การนำเสนอด้วยโปสเตอร์ 1,038 เรื่อง และผลงานนวัตกรรมสิงประดิษฐ์ 359 เรื่อง 3.งานประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2561การเสวนาจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข แบ่งหัวข้อสัมมนาออกเป็น 18 หัวข้อ อาทิชีวิตดิจิตอลกับสุขภาพคนไทยพัฒนาคน สร้างชุมชน คุ้มครองคนไทยให้สุขภาพดีการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 15 ขึ้นพร้อมกัน รวมทั้งมีโซนนิทรรศการของหน่วยงาน  ภาคีเครือข่าย  และสภาวิชาชีพ  จึงขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมงาน ติดตามข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ www.moph.go.th

 


LastUpdate 18/07/2561 17:06:40 โดย : Admin
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 4:09 am