วิทยาศาสตร์
สดร. ชวนโต้รุ่ง! ส่อง 'ดาวอังคารสีแดง เคียงดวงจันทร์สีแดง' คืนอาสาฬหบูชา


สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชวนคนไทยชม 3 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ดาวอังคารอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์  จันทรุปราคาเต็มดวงนานที่สุดในศตวรรษที่ 21 ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี  ตั้งแต่ค่ำวันที่ 27 ถึงรุ่งเช้า 28 กรกฎาคม 2561 เตรียมตั้งกล้องโทรทรรศน์ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา พร้อมเครือข่ายดาราศาสตร์ 360 แห่งทั่วประเทศ  เชิญชวนดาวอังคารสุกสว่าง ดวงจันทร์เต็มดวงสีแดงอิฐ หวังกระตุ้นการเรียนรู้ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์บนพื้นฐานของหลักการทางวิทยาศาสตร์แก่เยาวชนและประชาชนไทยจากประสบการณ์จริง

 

 

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า คืนวันที่ 27 กรกฎาคม ถึงรุ่งเช้าวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 เป็นคืนที่จะเกิดปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่น่าสนใจถึง 3 ปรากฏการณ์ ได้แก่ 1) ดาวอังคารอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ ที่ระยะห่าง 57.8 ล้านกิโลเมตร เราจะมองเห็นดาวอังคารสีส้มแดงสุกสว่างทางทิศตะวันออกเฉียงใต้และมีขนาดใหญ่กว่าปกติ สามารถสังเกตด้วยตาเปล่าได้ตลอดคืน 2) จันทรุปราคาเต็มดวง ในช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 27 กรกฎาคม คราสเต็มดวงกินเวลา 1 ชั่วโมง 43 นาที เวลา 02.30 – 04.13 . นับเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงที่ยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 21 และ 3) ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่าง 406,086 กิโลเมตร ในขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ยังตรงกับช่วงดวงจันทร์ไกลโลกที่สุดในรอบปี ดังนั้นในคืนดังกล่าว เราจึงจะเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงในช่วงที่ดวงจันทร์มีขนาดเล็กที่สุดในรอบปี และยังจะเห็น ดาวอังคารสีแดง เคียงดวงจันทร์สีแดงอีกด้วย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สดร. กำหนดจัดกิจกรรม ในวันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 18.00 ถึงรุ่งเช้าวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม 2561 เวลา 04.30 .  เชิญชวนประชาชนส่องขั้วน้ำแข็งบนดาวอังคาร ดวงจันทร์เต็มดวงสีแดงอิฐ และวัตถุท้องฟ้าอื่นๆ อาทิ ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี ผ่านกล้องโทรทรรศน์หลากหลายชนิด โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่      

 

 

 

 

1) เชียงใหม่ : อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร .แม่ริม .เชียงใหม่ (โทร. 081-8854353)

 2) นครราชสีมา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา (โทร. 086-4291489)

3) ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา (โทร. 084-0882264)

4) สงขลา : ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา .สงขลา (โทร. 095-1450411)

พร้อมร่วมกับเครือข่ายอีก 360 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ได้รับมอบกล้องโทรทรรศน์จาก สดร. ในโครงการกระจายโอกาสเรียนรู้ดาราศาสตร์ฯ ตั้งกล้องโทรทรรศน์ให้นักเรียนและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงร่วมสังเกตการณ์ 3 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์น่าติดตามในคืนดังกล่าว เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนไทยเรียนรู้ดาราศาสตร์จากประสบการณ์จริง ทั้งนี้ ตรวจสอบรายชื่อโรงเรียนเครือข่ายทั้งหมดได้ที่ www.NARIT.or.th

นอกจากนี้ สดร. ยังจัดถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ตั้งแต่เวลา 00.14 . เป็นต้นไปสามารถติดตามได้ที่ www.facebook.com/NARITpage


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 ก.ค. 2561 เวลา : 16:20:30
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 3:36 am