เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม


 มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม

 


 

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย. ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ SMEs และเพิ่มโอกาสให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น โดยมาตรการดังกล่าวประกอบด้วย 2 โครงการ ดังนี้

1. โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 3 วงเงินค้ำประกันรวม 15,000 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน

จากสถาบันการเงินผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย. ซึ่งจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำและลดต้นทุนในการประกอบอาชีพ ตลอดจนเพื่อแก้ไขปัญหาการกู้เงินนอกระบบของผู้ประกอบการรายย่อย โดย บสย. รับค้ำประกันสูงสุดต่อรายไม่เกิน 200,000 บาท ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันร้อยละ 1 - 2 ต่อปี โดยคิดตามระดับความเสี่ยงของผู้ประกอบการรายย่อย ระยะเวลาการค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 10 ปี จ่ายค่าประกันชดเชยสูงสุดไม่เกินร้อยละ 38 และรัฐบาลจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการในปีแรก ซึ่งผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอค้ำประกันได้จนถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2563

2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 7 วงเงินค้ำประกันรวม 50,000 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการสินเชื่อจากสถาบันการเงินแต่มีหลักประกันไม่เพียงพอ โดย บสย. รับค้ำประกันสูงสุดต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมค้ำประกันไม่เกินร้อยละ 1.75 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 10 ปี และ บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 24.25 และรัฐบาลจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการไม่เกินร้อยละ 2.25 ตลอดอายุการค้ำประกัน ซึ่งผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอค้ำประกันได้จนถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2563

ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ในครั้งนี้ จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนและการบริโภคของผู้ประกอบการซึ่งจะก่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 3 คาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ประมาณ 150,000 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อ

ในระบบสถาบันการเงินไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 7 คาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ประมาณ 43,000 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินไม่น้อยกว่า 240,000 ล้านบาท และช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ SMEs ไทย เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ก.ค. 2561 เวลา : 10:50:50
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 1:03 pm