เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ส่งออกไทยเดือน ก.ค. ขยายตัวดีขึ้นเล็กน้อยที่ 8.3% แต่สินค้าหมวดสำคัญมีแนวโน้มชะลอตัวลง


มูลค่าการส่งออกไทยเดือน .. ขยายตัว 8.3%YOY ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ 8.2%YOY นำโดยการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป และเคมีภัณฑ์และพลาสติก ที่เติบโต 52.7%YOYและ 26.4%YOY เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 23.6%YOY และ 13.6%YOYตามลำดับ จากราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ขยายตัว 39.8%YOY อย่างไรก็ตามการส่งออกสินค้าหมวดสำคัญชะลอตัวลง โดยเป็นการขยายตัวที่ลดลงในหมวดสินค้าอุตสาหกรรมหลัก

ที่ขยายตัว 7.7%YOY ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 8.2%YOY ได้แก่ คอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น และหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัว 3.2%YOY จาก 4.5%YOYในเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะมูลค่าส่งออกข้าวที่หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8เดือนที่ -4.9%YOY ทั้งนี้ การส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2018 เติบโตที่10.6%YOY

 

 

มาตรการภาษีการค้าของสหรัฐฯ เริ่มส่งผลต่อการส่งออกไทยแต่ยังอยู่ในวงจำกัด โดยในเดือนกรกฎาคม มูลค่าส่งออกอุปกรณ์กึ่งตัวนำ (แผงโซลาร์) และเครื่องซักผ้า-เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบลดลง25.6%YOY และ 8.8%YOY ตามลำดับ ซึ่งมาจากการส่งออกสินค้าทั้งสองกลุ่มไปยังสหรัฐฯ ที่หดตัวสูงถึง 77.7%YOY และ 21.9%YOY ตามลำดับ โดยมูลค่าส่งออกของแผงโซลาร์รวมหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ส่วนของเครื่องซักผ้า-เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบในภาพรวมกลับมาหดตัวหลังจากที่ขยายตัวในเดือนก่อนหน้า ขณะที่สินค้าอื่นๆ ที่โดนมาตรการภาษีจากสหรัฐฯ ได้แก่ เหล็ก-เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ในภาพรวมยังขยายตัวได้ที่ 6.4%YOY และ 31.0%YOY ตามลำดับ

มูลค่าการนำเข้าเติบโตต่อเนื่องที่ 10.5%YOY จากการนำเข้าสินค้าในกลุ่มสินค้าเชื้อเพลิง

ที่เติบโตกว่า 64.4%YOY ตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ด้านการนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยังขยายตัวที่ 12.0%YOY ตามแนวโน้มการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในสินค้ากลุ่มดังกล่าว ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุน (ไม่รวมเครื่องบินและเรือขยายตัว 6.6%YOY ทั้งนี้ การนำเข้าในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2018 เติบโตที่ 14.8%YOY

อีไอซีคาดมูลค่าการส่งออกทั้งปี 2018 จะขยายตัวที่ 8.5% ทั้งจากการเติบโตของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก การค้าโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในปี 2018 และราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น โดย

อีไอซีคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยทั้งปี 2018 อยู่ที่ 72 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือขยายตัว 33%YOY อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีอาจขยายตัวได้ลดลงจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว ปัจจัยฐานสูงในปีที่ผ่านมา และมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่เริ่มส่งผลกระทบในบางหมวดสินค้า

การส่งออกของไทยในระยะต่อไปมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน แม้ว่าผลกระทบจากมาตรการภาษีการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อการส่งออกไทยในปี 2018 ยังมีค่อนข้างจำกัด แต่การตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ไปแล้วในวันที่ 6 กรกฎาคม 2018 อาจกระทบการส่งออกของไทยไปยังจีนในระยะต่อไป ในกลุ่มสินค้าขั้นกลาง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล และรถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว1.8% ของการส่งออกไทยทั้งหมด ขณะที่มาตรการตอบโต้ของจีนที่มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ จะยังไม่กระทบการส่งออกไทยมากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับการส่งออกไทยค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยอาจได้รับประโยชน์จากมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน จากการที่ผู้ประกอบการสหรัฐฯ เปลี่ยนมานำเข้าสินค้าจากไทยแทนการนำเข้าจากจีน

อีไอซีคาดว่ามูลค่าการนำเข้าทั้งปี 2018 จะขยายตัวที่ 13.5%ตามความต้องการสินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุน ซึ่งมีเติบโตตามการลงทุนในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังปี 2018 รวมไปถึงยังคงมีแรงสนับสนุนด้านราคาของมูลค่านำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มขยายตัวตามราคาน้ำมัน ทั้งนี้ การนำเข้าที่ขยายตัวได้ดีกว่าการส่งออกทำให้ไทยขาดดุลการค้าในเดือนกรกฎาคม 516 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ดุลการค้า 7 เดือนแรกยังเกินดุลอยู่ในระดับที่สูงที่ 2,939 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สะท้อนถึงเสถียรภาพระหว่างประเทศของไทยที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ส.ค. 2561 เวลา : 17:43:44
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 1:13 am