ไอที
IoT ทวีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทย


เทคโนโลยี IoT หรือ Internet of Things ทำให้การใช้ชีวิตของผู้คนง่ายดาย สะดวก และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น แทบจะเรียกได้ว่าเทคโนโลยี IoT เป็นแก่นของความเจริญก้าวหน้าในยุคปัจจุบัน ซึ่งได้เปลี่ยนโฉมชีวิตประจำวันของเราไปอย่างมาก เริ่มตั้งแต่เรื่องง่ายๆ อย่างการช็อปปิ้งทางออนไลน์ ไปจนถึงเรื่องที่ซับซ้อนอย่างยานยนต์ไร้คนขับ เทคโนโลยี IoT เริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างมาก และกำลังเพิ่มความสำคัญมากขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิต มรโจเซฟ ฮง กรรมการผู้จัดการของบ๊อช ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกด้านเทคโนโลยี ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจและเทรนด์ของแวดวงธุรกิจยุคปัจจุบันที่ IoT กำลังเข้ามามีบทบาท โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมการผลิต ดังนี้

 

 

1.เซ็นเซอร์แก่นของเทคโนโลยี IoT

เราต่างรู้ว่า IoT นั้นทวีความสำคัญมากเพียงใด แต่เราอาจยังไม่รู้ถึงแก่นที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ IoT เกิดขึ้นจริง นั่นคือเซ็นเซอร์ที่เราเรียกว่าเซ็นเซอร์ MEMSซึ่งย่อมาจาก micro-electro-mechanical systems เป็นเซ็นเซอร์ขนาดเล็กจิ๋วที่ทำให้สิ่งต่างๆ สามารถรับรู้หรือสื่อสารถึงกันได้ตัวเซ็นเซอร์ MEMS จะทำหน้าที่รวบรวม ประมวลผล และนำข้อมูลที่ได้จากการสัมผัส มองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น และรับรสเข้าสู่กระบวนการจนกลายเป็นข้อมูลที่สามารถอ่านได้ ซึ่งบ๊อชเองก็เป็นบริษัทผู้ผลิตเซ็นเซอร์ MEMS รายใหญ่ของโลก โดยมียอดการผลิตเซ็นเซอร์ MEMS ราว 4.5 ล้านชิ้นต่อวัน แน่นอนว่า หากปราศจากซึ่งเซ็นเซอร์แล้ว IoT ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้  

 

 

2.IoT กำลังเปลี่ยนโฉมโลกใบนี้

เทคโนโลยี IoT ค่อยๆ เปลี่ยนวิถีการทำงานในทุกอุตสาหกรรม นอกเหนือจากทักษะทางเทคนิคและทักษะเชิงปฏิบัติแล้ว กระบวนการข้อมูล การประมวลผลข้อมูล และความปลอดภัยของข้อมูล ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับความรวดเร็วและการเข้าถึงข้อมูลซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้เกิด IoT ยกตัวอย่างเช่น ผู้จัดการโรงงานสามารถเข้าถึงข้อมูลการผลิตล่าสุดโดยทันทีผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ หรือเพียงแค่กดปุ่มก็สามารถเข้าถึงข้อมูลสินค้าคงคลังได้

ด้วยการใช้เซ็นเซอร์และโซลูชั่นส์เพื่อการวิเคราะห์ บริษัทต่างๆ จะสามารถพัฒนากระบวนธุรกิจที่เกี่ยวกับข้อมูลบริบท (contextual data) และการวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ได้อย่างหลากหลาย กรณีตัวอย่าง เช่น หากเครื่องจักรเกิดการสั่นมากเกินไป โซลูชั่นส์ IoT จะลดความเร็วของไลน์การผลิตลง จนเครื่องจักรสามารถทำงานได้โดยปราศจากความเสียหาย จนกว่าช่างเทคนิคจะเข้ามาแก้ไข

 

 

3.คุณประโยชน์ของ IoT ในแวดวงอุตสาหกรรมการผลิต

ในขณะที่บริษัทต่างๆ มีการลงทุนด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการด้านไอทีอย่างต่อเนื่อง พวกเขาต่างจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทำให้เกิดการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง เห็นได้จากกระบวนการผลิตอัจฉริยะ (smart manufacturing) ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี IoT เพื่อส่งมอบบริการที่เพิ่มมูลค่าให้แก่ลูกค้า หรือการไหลของข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยวัตถุดิบที่มีอยู่ ช่วยทำให้ผู้ผลิตลดต้นทุนด้านสินค้าคงคลัง ลดการติดขัดระหว่างการผลิต และยังช่วยลดต้นทุนโดยรวมในการดำเนินธุรกิจอีกด้วย ซึ่งสิ่งที่กล่าวมานี้ เกิดขึ้นที่โรงงานอัจฉริยะ (smart factory) ของบ๊อชในประเทศไทย ที่มีการใช้โซลูชั่นส์ที่เชื่อมต่อกัน เพื่อให้การผลิตเป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมของทั้งกระบวนการผลิต ภายใต้แนวทางการทำงานที่สอดคล้องกับยุคอุตสาหกรรม 4.0

 

 

4.อนาคตที่ยิ่งต้องพึ่งพา IoT

เทคโนโลยี IoT มีส่วนสำคัญยิ่งยวดต่ออนาคตเพราะช่วยทำให้ยุคอุตสาหกรรม 4.0 เป็นจริงขึ้นมาได้ บริษัทต่างๆ ที่ขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็มีแนวโน้มจะประสบผลสำเร็จทางธุรกิจอย่างสูง  อย่างไรก็ตาม องค์กรทั้งหลายก็ยังคงต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและต่อเนื่องของโลกดิจิทัล ทั้งหมดนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เนื่องจากเครือข่ายที่ทรงพลังมากขึ้นสามารถจัดกระบวนข้อมูลขนาดมหึมาได้อย่างไม่เคยมีมาก่อน นับเป็นการเปลี่ยนมุมมองและบรรทัดฐานทางเทคโนโลยีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้จะต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนมากเพียงใด แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ เนื่องจากคุณประโยชน์ที่ได้จากเทคโนโลยีเหล่านี้มีมากมายเหลือคณานับ เพราะไม่เพียงแต่ทำให้ชีวิตประจำวันของผู้คนง่ายดาย สะดวก และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น แต่ยังช่วยลดต้นทุนสำหรับผู้ผลิต และต้นทุนทางธุรกิจในการผลิตสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความสามารถในการทำกำไร และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

นี่คือช่วงเริ่มต้นของยุค IoT ซึ่งเราต่างประจักษ์ถึงการเริ่มต้นที่งดงามอันก่อกำเนิดขึ้นจากสิ่งที่เล็กที่สุด คือ เซ็นเซอร์  นั่นเอง


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 ส.ค. 2561 เวลา : 16:15:07
30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 2:45 pm