แบงก์-นอนแบงก์
'แบงก์' ขยับตัวรับดอกเบี้ยขาขึ้น...จับตา Net Lending ได้ประโยชน์มากสุด


แบงก์พาณิชย์ จ่อรับประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น โดยเฉพาะแบงก์ที่เป็นผู้ให้กู้ยืม ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส คาด หนุนกำไรแบงก์ปี 2562 เพิ่มขึ้น 5.6% โดยเฉพาะกรุงไทยมีโอกาสเพิ่มขึ้นมากสุด ตามด้วยแบงก์กรุงเทพ-ทีเอ็มบี 

 

 

สำหรับทิศทางเงินเฟ้อโลก เป็นประเด็นที่ตลาดให้น้ำหนักมากในช่วงนี้ เพราะมีผลต่อทิศทางดอกเบี้ย หลายประเทศเตรียมรายงานตัวเลขเงินเฟ้อกัน เช่น วันพรุ่งนี้ (31 ..) ยุโรปจะรายงานเงินเฟ้อเดือนสิงหาคม ซึ่งตลาดคาดไว้ที่ 2.1% โดยยังห่างจากดอกเบี้ยนโยบาย 0% จึงคาดว่ายุโรป จะใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายอีกระยะหนึ่ง การขึ้นดอกเบี้ย น่าจะเริ่มเห็นราวไตรมาส 2 ปี 2562

 

ส่วนสหรัฐอเมริกา น่าจะรายงานตัวเลขเงินเฟ้อเดือนสิงหาคม ในกลางเดือนกันยายน ตลาดคาดไว้ที่ 2.9% เทียบกับดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% ทำให้มีโอกาสที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 27 กันยายน 2561 อีก 0.25% เป็น 2.25% และขึ้นอีก 0.25% เป็น 2.5% ในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือของปีนี้

 

 

 

 

ขณะที่ไทยจะรายงานเงินเฟ้อเดือนสิงหาคม ในวันที่  3 กันยายน 2561 ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส หรือ ASP คาดอยู่ที่ 1.59% จาก consensus คาด 1.62% เพิ่มจาก 1.46% ในเดือนกรกฎาคม และน่าจะแตะ 2% ปลายปีนี้ หากประเมินจากท่าทีของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แม้ยังไม่ได้ชี้ชัดว่า จะเริ่มใช้นโยบายการเงินตึงตัวเมื่อใด โดยให้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

 

แต่เริ่มเห็นความเริ่มกังวลต่อการปล่อยให้ดอกเบี้ยต่ำนานเกิน รวมถึงช่องว่างดอกเบี้ยไทยกับต่างประเทศที่ห่างเกินไป อาจทำให้การบริหารจัดการนโยบายการเงินในอนาคตยากขึ้น ฝ่ายวิจัยฯเชื่อว่า กนง.ประชุมวันที่ 19 กันยายน 2561 จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% อีกระยะหนึ่ง

 

 

 

 

แต่แบงก์ชาติ เปิดช่องให้แบงก์พาณิชย์ ปรับดอกเบี้ยตามความเหมาะสม ทำให้แบงก์บางแห่งเริ่มขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อบางประเภทที่ดอกเบี้ยต่ำเกินไป โดยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2561 เป็นต้นมา พบว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) นำร่องขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน 0.05%, ปรับขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อรถยนต์ใหม่ 0.5-1% มีผลแล้วเมื่อ 15 สิงหาคม บริษัททุนธนชาต (TCAP) ขึ้นดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์ 0.2% มีผลตั้งแต่เดือนกรกฎาคม, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน 0.25% มีผลต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเช่นกัน

 

ล่าสุด เริ่มเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก คือ ซีไอเอ็มบี ไทย ให้ดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาว เงินฝากปลอดภาษี 24 เดือน สูงสุดที่ 2.55%, ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ หรือ LHBANK ออกแคมเปญเงินฝากประจำพิเศษ 12 เดือน ดอกเบี้ย 1.75% และ 24 เดือน 1.85% ขณะที่แบงก์อื่นๆ ก็มีอัตราดอกเบี้ยที่จูงใจผู้ฝากเงินไม่แพ้กัน

 

ประเด็นดังกล่าว สะท้อนถึงการแข่งกันระดมเงินฝาก เพื่อเตรียมไว้ปล่อยสินเชื่อในอนาคต ซึ่งความต้องการสินเชื่อจะเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ และยังเป็นการล็อคต้นทุนเงินให้อยู่ในระดับไม่สูงมากนัก ท่ามกลางแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นในระยะต่อไป ถือเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มแบงก์

 

 

 

 

แบงก์พาณิชย์จะได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นดอกเบี้ย มากน้อยแตกต่างกันไป โดยเฉพาะแบงก์ที่มีสถานภาพเป็นผู้ให้กู้ยืมสุทธิ (Net Lending) จะได้ประโยชน์มากกว่าผู้ยืมสุทธิ (Net Borrowing)

 

จากการประเมินของฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส พบว่าทุก 25 bp ของดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น จะทำให้กำไรสุทธิปี 2562 ของกลุ่มแบงก์เพิ่มขึ้น 5.6% โดย ธนาคารกรุงไทย (KTB) กำไรจะเพิ่มขึ้นมากสุด รองลงมาคือ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และตามด้วย ธนาคารทหารไทย (TMB )เป็นต้น 

 

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นในกลุ่มแบงก์ปรับขึ้น จนมี Upside จำกัด จึงแนะนำสะสมเมื่ออ่อนตัว โดยยังชอบ BBL และ TCAP

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 ส.ค. 2561 เวลา : 17:38:51
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 9:22 pm