เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
สงครามการค้าระอุ สหรัฐฯ เก็บภาษีสินค้านำเข้าจีนเพิ่ม 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


วันที่ 18 กันยายน 2018 รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศจะเก็บภาษีนำเข้า (import tariff) สินค้าจากจีนมูลค่ารวม 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อัตรา 10% โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 กันยายน 2018 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 25% ในวันที่มกราคม 2019 จำนวน 5,745 รายการ (ลดลงจากรายการเดิมที่ 6,031รายการคิดเป็นมูลค่าราว 8.3% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทั้งหมดของสหรัฐฯ ในปี 2017 ซึ่งเป็นผลมาจากการตรวจสอบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าที่ไม่เป็นธรรมของประเทศคู่ค้าตามมาตรา 301 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ (Trade Act of 1947)

ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนเตรียมตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในลักษณะคล้ายกันมูลค่ารวม 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อัตรา 5-25%(อาจปรับลงเหลือ 5-10% ภายหลัง) จำนวน 5,207 รายการ คิดเป็นมูลค่าราว3.3% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทั้งหมดของจีนในปี 2017 ซึ่งจะมีผลทันทีหลังสหรัฐฯ บังคับใช้การเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน

 

 

สงครามการค้าสหรัฐฯ และจีนรอบล่าสุดทำให้มูลค่าสินค้าจีนที่ถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีมีมูลค่ารวม 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสินค้าสหรัฐฯ ที่ถูกจีนเก็บภาษีมีมูลค่ารวม 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนดำเนินต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม หลังจากที่ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างขึ้นภาษีนำเข้าต่อกันไปแล้วฝ่ายละ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับรอบนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่ารัฐบาลจีนยังไม่สามารถปฏิรูปกฎเกณฑ์การค้าได้เพียงพอในแบบที่สหรัฐฯ ต้องการ ทั้งนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ยังขู่ว่าทางการสหรัฐฯ พร้อมที่จะขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มเติมจากจีนได้อีกถึง 2.67 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (รูปที่ 1) หากรัฐบาลจีนไม่ยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องจากสหรัฐฯ และลดการขาดดุลการค้า ทางฝั่งรัฐบาลจีนได้ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษี พร้อมแถลงว่าทางการจีนพร้อมที่จะใช้มาตรการทุกด้านเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของจีนหากสหรัฐฯ ยังไม่ยอมยุติมาตรการกีดกันทางการค้า อีไอซีมองว่า หลังจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีช่องให้เก็บภาษีจากจีนเพิ่มราว 2.67 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จริงหากนับจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐฯ ในปี 2017 ที่ราว 5.05 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้านจีนมีแนวโน้มไม่สามารถขึ้นภาษีไปได้มากกว่านี้เพราะมูลค่าการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ของจีนอยู่ที่ 1.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2017 ทำให้มาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี เช่น การจำกัดการลงทุนและจำกัดการเปิดเสรีภาคบริการสำหรับบริษัทสหรัฐฯ จะเป็นทางเลือกต่อไปของจีน

จากรายการสินค้านำเข้าจีนที่ถูกสหรัฐฯ เก็บภาษี 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ล่าสุดพบว่าสหรัฐฯ ตัดสินค้าบางหมวดออกแต่ยังมีสัดส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับภาษีรอบก่อน ในรอบก่อน สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าจีนมูลค่ารวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (อ่านรายละเอียดใน EIC Flash:สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนปะทุ หลังสหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าและจีนตอบโต้ต่อเนื่อง วันที่ 18 มิถุนายน 2018) พบว่ามีสัดส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคเพียง 1% (รูปที่ 2) โดยส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าขั้นกลางและสินค้าทุนที่สหรัฐฯ สามารถหาแหล่งสินค้าทดแทนอื่นได้ง่าย แต่ภาษีนำเข้ามูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในรอบนี้ มีสินค้าขั้นกลางและสินค้าทุนในสัดส่วนที่ลดลง ในขณะที่สัดส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 22% หากเทียบภาษีนำเข้าสินค้าจีนรอบก่อน อีไอซีมองว่าผลของภาษีรอบนี้จะทำให้มีแนวโน้มกระทบอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในระยะต่อไปได้และภาระจะตกสู่ผู้บริโภคและผู้ผลิตภายในสหรัฐฯ มากขึ้น โดยสินค้านำเข้าจีนที่ถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีรอบนี้ยังคงเป็นหมวดสินค้าภายใต้นโยบาย Made in China 2025 ของจีนโดยเน้นในหมวดสินค้าเทคโนโลยี เช่น อุปกรณ์โทรคมนาคม ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ สินค้าขั้นกลางอื่นๆ และยังเพิ่มหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญหลายหมวด อาทิ หลอดไฟโคมไฟ กระเป๋าเดินทาง เป็นต้น

จีนเตรียมตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยออกแบบรายการเพื่อลดผลกระทบกับผู้บริโภคภายในประเทศ ในขณะนี้จีนจะเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าสหรัฐฯ รวมราว 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นราว 85% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ของจีน ทำให้จีนเหลือช่องว่างในการตอบโต้สหรัฐฯ น้อยกว่าที่สหรัฐฯ จะตั้งกำแพงภาษีเพิ่มกับจีนได้ ทำให้จีนไม่สามารถใช้มาตรการขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐฯ ในมูลค่าและอัตราที่เท่ากันได้อีกในรอบนี้และในอนาคต ซึ่งสำหรับภาษีตอบโต้ของทางการจีนรอบนี้ มีการแบ่งกลุ่มสินค้าและอัตราภาษีออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 25% 20% 10% และ 5% โดยรายการสินค้าที่มีสัดส่วนการนำเข้าจากสหรัฐฯ น้อย จะถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าสินค้าที่มีสัดส่วนการนำเข้าจากสหรัฐฯ สูง เพื่อลดผลกระทบกับผู้บริโภคในจีน ซึ่งทางการจีนกำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงรายการสินค้าที่จะเก็บภาษีตอบโต้สหรัฐฯ โดยอาจปรับอัตราภาษีที่เรียกเก็บเหลือ 5% และ 10%ในขั้นสุดท้ายซึ่งยังไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัด แต่จากรายการสินค้าตอบโต้เบื้องต้นมีรายละเอียด (รูปที่ 3)  ดังนี้

  • รายการสินค้าสหรัฐฯ ที่ถูกเก็บภาษี 25% จำนวน 2,493 รายการ คิดเป็น2% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดจากสหรัฐฯ โดยสินค้าที่สหรัฐฯ ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แร่ทองแดง และผลิตภัณฑ์ไม้สน ตามลำดับ
  • รายการสินค้าสหรัฐฯ ที่ถูกเก็บภาษี 20% จำนวน 1,078 รายการ คิดเป็น9% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดจากสหรัฐฯ โดยสินค้าที่สหรัฐฯ ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ชิ้นส่วนเครื่องจักรกล อุปกรณ์ทัศนศาสตร์ และไม้เนื้อแข็งบางชนิด ตามลำดับ
  • รายการสินค้าสหรัฐฯ ที่ถูกเก็บภาษี 10% จำนวน 974 รายการ คิดเป็น19% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดจากสหรัฐฯ โดยสินค้าที่สหรัฐฯ ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ อาหารปรุงแต่ง และเลเซอร์ ตามลำดับ
  • รายการสินค้าสหรัฐฯ ที่ถูกเก็บภาษี 5% จำนวน 662 รายการ คิดเป็น25% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดจากสหรัฐฯ โดยสินค้าที่สหรัฐฯ ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ เยื่อไม้ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และหนังสัตว์ดิบ ตามลำดับ

ตลาดการเงินโลกตอบสนองไม่มาก แต่สงครามการค้าที่ขยายความรุนแรงเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (S&P 500) ปรับลดลงราว -0.56% และของจีน (CSI 300) เพิ่มขึ้น 1.75% ตามลำดับ ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (DXY) ปรับตัวลดลงราว -0.03% และค่าเงินหยวนเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ (USDCNY) แข็งค่า0.08% ในวันที่ประกาศ เห็นได้ว่าตลาดการเงินไม่ได้ตอบสนองและมีปฏิกิริยาเชิงลบมากนัก เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์กับมาตรการภาษีรอบนี้ไว้แล้ว และอัตราภาษีที่เก็บจริงจากทั้งฝั่งสหรัฐฯ และจีนในเบื้องต้นลดลงจากที่เคยคาดการณ์ว่าอาจสูงถึง 25% ทั้งสองฝ่าย แต่อัตราที่ประกาศจริงในขณะนี้สูงสุดอยู่ที่ 10% อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่าผลจากการเก็บภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกันที่มากขึ้น ทำให้ทั้งสหรัฐฯ และจีนอาจเริ่มไม่สามารถหาตลาดสินค้านำเข้าทดแทนกันได้ทันที ทำให้ผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศจะเริ่มมีมากขึ้น รวมทั้งก่อให้เกิดต้นทุนเพิ่มจากการเปลี่ยนรูปแบบการนำเข้าและการผลิต (supplier and production network) ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศและรวมถึงผู้บริโภคของทั้ง 2 ประเทศหากต้นทุนและราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ทั้งยังกระทบทั้งแนวโน้มการตัดสินใจลงทุนของธุรกิจได้ในระยะต่อไป อีไอซีมองว่าเศรษฐกิจจีนจะมีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากกว่าทั้งในตลาดหุ้นและภาคเศรษฐกิจจริงจากความกังวลของนักลงทุนและการชะลอตัวของภาคการส่งออก ซึ่งสะท้อนจากดัชนี CSI 300 ที่ได้ปรับลดลงราว 20% ตั้งแต่ต้นปี และภาคการส่งออกจีนที่แม้ยังมีการเติบโตในภาพรวมที่9.8%YOY  เดือนสิงหาคม แต่หากดูภาวะเศรษฐกิจรายมณฑลจะเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวโดยเฉพาะในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งนับเป็นหนึ่งในมณฑลที่สำคัญที่สุดของภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกของจีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจราว 11% ของ GDP จีน มีสัดส่วนการส่งออกราว 28% ของมูลค่าการส่งออกรวม ได้สะท้อนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของมณฑลที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยล่าสุดอยู่ที่ราว 49.3 (PMI ต่ำกว่า 50 แสดงถึงการหดตัว) เดือนสิงหาคม ทำให้การส่งออกจีนในระยะต่อไปอาจมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากสัญญาณการส่งออกที่เริ่มหดตัวในมณฑลสำคัญ

จับตาภาษีสินค้านำเข้าจีนที่สหรัฐฯ เล็งเก็บอีกมูลค่า 2.67แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และภาษียานยนต์ตามมาตรา 232 รวมถึงการเจรจา NAFTA ฉบับปรับปรุงใหม่ หลังจากภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ประกาศอย่างเป็นทางการแล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ยังขู่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มเติมอีก 2.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหากภาษีสินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมดถูกเก็บจริงจะยิ่งส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนรวมถึงประเทศที่มีความเชื่อมโยงด้านการค้ากับจีนเป็นอย่างมากในปีหน้า นอกจากนี้ ยังคงต้องจับตาประเด็นการตรวจสอบสินค้านำเข้าหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนตามมาตรา 232 เพื่อเก็บภาษีนำเข้า(national security tariffs) ในอัตรา 25% รวมมูลค่าราว 2.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (รูปที่ 4) ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการตรวจสอบจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ อีไอซีมองว่าผลการเจรจาข้อตกลง NAFTA ฉบับใหม่ที่กำลังเจรจากันอยู่ค่อนข้างมีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจเก็บภาษีนำเข้าหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน สำหรับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกรวมถึงไทยที่อาจได้รับผลกระทบสูงจากภาษีนำเข้าหมวดยานยนต์นี้ที่สหรัฐฯ มีแนวโน้มตั้งกำแพงภาษีหากไม่ได้ข้อสรุปที่พอใจจากข้อตกลง NAFTA ฉบับใหม่ รวมถึงข้อตกลงกับประเทศคู่ค้าหลักอย่างแคนาดา สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนส่งออกไปสหรัฐฯ ในหมวดสินค้านี้สูง อีไอซีคาดว่าแม้ท้ายที่สุดภาษียานยนต์อาจได้รับการยกเว้นและมีความเป็นไปได้ต่ำที่จะเกิดเนื่องจากส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคสหรัฐฯ เองสูง แต่ประเทศที่มีการส่งออกในหมวดยานยนต์สูงรวมถึงไทยยังคงมีความเสี่ยงในด้านการถูกต่อรองจากสหรัฐฯ ที่อาจจะจบลงที่การขอให้จำกัดการส่งออกหรือการส่งออกภายในโควตาที่สหรัฐฯ กำหนดเหมือนกรณีที่เกาหลีใต้สมัครใจจำกัดการส่งออกเหล็ก ซึ่งทำให้เกาหลีใต้ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเหล็ก ตามมาตรา 232 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ เป็นต้น

อีไอซีปรับผลกระทบของสงครามการค้าต่อการส่งออกไทยเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยคาดว่าอาจมีผลกระทบมูลค่าการส่งออกราว 1.1% เป็น 6.1% ของมูลค่าการส่งออกรวม สงครามการค้ามีแนวโน้มกระทบห่วงโซ่การผลิตและการค้าโลกมากขึ้น รวมถึงผลกระทบต่อการส่งออกไทยจะเริ่มชัดเจนมากขึ้นโดยเฉพาะการส่งออกไปสหรัฐฯ และจีนช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ปริมาณการค้าโลกเริ่มชะลอเล็กน้อยตามการเติบโตในหลายประเทศที่เริ่มชะลอลง ทั้งนี้ การค้าโลกยังได้รับปัจจัยลบเพิ่มเติมจากภาวะสงครามการค้าสหรัฐฯ และจีน แม้ว่าผลกระทบการตั้งกำแพงภาษีขนานใหญ่จะจำกัดอยู่เฉพาะสหรัฐฯ และจีน แต่ผลกระทบสงครามการค้าได้ส่งผ่านทางการเชื่อมโยงการค้าในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของสหรัฐฯ และจีน โดยเฉพาะการค้าในสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางกับจีนที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากขึ้น ทั้งนี้ ไทยมีบทบาทค่อนข้างสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของจีน และจะได้รับผลกระทบมากหากการส่งออกจีนชะลอตัว ดังนั้น เมื่อนับรวมการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ในรอบนี้ อีไอซีได้ปรับผลกระทบของสงครามการค้าต่อการส่งออกไทยเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยคาดว่าจะกระทบมูลค่าการส่งออกราว 1.1% เป็น6.1% (รูปที่ 5) ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ซึ่งสัดส่วนนี้เป็นการสะท้อนเพดานความเสี่ยงด้านสูง เนื่องจากสมมติว่าไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ และจีนในสินค้าดังกล่าวไม่ได้เลยและไม่สามารถหาตลาดทดแทนได้ โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะอยู่สินค้าขั้นต้นและขั้นกลางที่อยู่ในสายการผลิตของจีน อาทิ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เม็ดพลาสติก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง และไม้ สำหรับผลกระทบต่อการส่งออกจากสงครามการค้าสหรัฐฯ และจีนนั้นผลกระทบต่อการส่งออกไทยผ่านห่วงโซ่การผลิตจีนยังจำกัด แต่คาดว่าผลกระทบจะเริ่มชัดขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ถึงปีหน้า ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องสำหรับผู้ประกอบการที่พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ และจีน สำหรับผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้าอื่นของสหรัฐฯ ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี เริ่มส่งผลกระทบบางส่วนต่อการส่งออกไทย จากรายงานข้อมูลการส่งออกไทย เดือนกรกฎาคม พบว่ามูลค่าการส่งออกหมวดเครื่องซักผ้าและแผงโซลาร์ลดลง 24.9%YTD และ 64.6%YTD ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมยังขยายตัว 0.53%YTD และ 30.5%YTD ตามลำดับ และมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ โดยรวมลดลง 1.9%YOY

ผลลบต่อการส่งออกไทยปีนี้จำกัดแม้เริ่มมีความเสี่ยงสูงขึ้น ในอีกด้าน สงครามการค้าสหรัฐฯ และจีนอาจส่งผลบวกทางอ้อมจากการย้ายฐานการผลิตบางส่วนเข้ามาในไทย รวมถึงโอกาสในการส่งออกบางสินค้าเพิ่ม ด้านการย้ายฐานการผลิตโดยเฉพาะผู้ผลิตจีนเริ่มมีแนวโน้มพิจารณาย้ายสายการผลิตบางส่วนเข้ามาในไทย และใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกเพื่อลดผลกระทบ นอกจากนี้ ผู้ผลิตจากจีนและสหรัฐฯ อาจมองหาแหล่งนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทดแทนเพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้า ไทยจึงมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการส่งออกสินค้าทดแทนไปยังสหรัฐฯ และจีน หากทั้ง 2 ประเทศลดการค้าระหว่างกัน และหันมานำเข้าสินค้าจากไทยบางส่วนเพิ่ม โดยเฉพาะสินค้าสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าขั้นกลาง อาทิ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ชิ้นส่วนยานยนต์บางส่วน ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้เพื่อการส่งออกบางชนิด เป็นต้น ด้วยภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าโลกในภาพรวมที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี อีไอซีมองการส่งออกไทยในปีนี้ยังมีแนวโน้มเติบโตได้สูงที่ราว 8.5%YOY และผลกระทบทางลบส่งผลเฉพาะรายสินค้าที่ได้รับกระทบโดยตรง อาทิ เครื่องซักผ้า แผงโซลาร์ เหล็กและอะลูมิเนียม และสินค้าขั้นต้นที่ส่งออกไปจีนบางส่วนเพื่อการขึ้นรูปและประกอบเพื่อส่งออกต่อ เช่น ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยาง และไม้ เป็นต้น

จับตาความเสี่ยงไทยอาจถูกตัด GSP สืบเนื่องจากภาวะสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงและการสอบสวนที่เข้มงวดจากทางการสหรัฐฯ แม้ว่าเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2018 สหรัฐฯ ได้ต่ออายุสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ให้ไทยไปจนถึงสิ้นปี 2020 แต่สภาผู้ผลิตสุกรแห่งชาติของสหรัฐฯ (National Pork Producers Council) ได้ยื่นเรื่องให้สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) พิจารณาจำกัดหรือตัดสิทธิ GSP ของไทย เมื่อเดือนมิถุนายน 2018 เนื่องจากไทยกีดกันการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ เพราะตลาดเนื้อหมูในสหรัฐฯ เป็นอุตสาหกรรมหลักในภาคเกษตรและมีความสำคัญต่อเกษตรกรสหรัฐฯ ทั้งนี้ ไทยได้ประโยชน์จาก GSP สูงรวมมูลค่าราว4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2017 ด้วยภาวะสงครามการค้าที่มีความตึงเครียดมากขึ้นและการสอบสวนที่เข้มงวดของทางการสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา อีไอซีมองว่าไทยอาจยังมีความเสี่ยงที่จะถูกตัดสิทธิ GSP ได้บางส่วน ทั้งนี้ ในปี 2017 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสาเหตุการขาดดุลทางการค้าและข้อเรียกร้องขอให้ไทยเปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมูของสหรัฐฯ อาจถูกหยิบยกมาเป็นข้อเจรจารวมถึงข้อต่อรองการตัดสิทธิหรือต่อ GSP ของไทยในระยะต่อไปได้

ความผันผวนในตลาดการเงินโลกโดยเฉพาะเงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มกระทบค่าเงินบาทได้ระยะต่อไป แม้ว่าตลาดการเงินโลกจะตอบสนองน้อยลงต่อมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ แต่ความเสี่ยงยังคงมีอยู่ต่อเนื่องหากการเจรจาไม่ประสบผลหรือมีการประกาศการเก็บภาษีเพิ่มเติมจากจีนและประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เกิดภาวะตลาดปิดรับความเสี่ยง (risk-off sentiment) ต่อตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยได้อย่างฉับพลัน อย่างไรก็ดี ภาคการส่งออกไทยมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับสินค้าเทคโนโลยีของจีนที่ได้รับผลกระทบไม่มากเท่าไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ประกอบกับฐานะทางการเงินไทยยังแข็งแกร่งและผลกระทบต่อการส่งออกไทยยังคงจำกัดในปีนี้ อีไอซีประเมินค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงมีความผันผวนต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคและคาดค่าเงินบาทอยู่ในช่วง 32-32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ สิ้นปี 2018


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ก.ย. 2561 เวลา : 14:54:17
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 1:21 am