การตลาด
สกู๊ป ส่อง 'โครงการฟิวเจอร์ซิตี้' ศูนย์รวมไลฟ์สไตล์กรุงเทพฯฝั่งเหนือ


ไปครึ่งทางสำหรับการลงทุนโครงการฟิวเจอร์ซิตี้ ของบริษัท รังสิตพลาซ่า จำกัด หลังจากใช้พื้นที่ในการพัฒนาไปแล้ว 350 ไร่ จากทั้งหมด 650 ไร่  โดยโครงการที่พัฒนาเสร็จสิ้นพร้อมเปิดให้บริการไปเรียบร้อยแล้ว คือ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ศูนย์การค้าสเปล  โรงภาพยนตร์เมเจอร์  โฮมโปร และ โรงพยาบาลเปา รังสิต เป็นต้น  ซึ่งในส่วนของบริการต่างๆ ที่เกิดขึ้นดังกล่าวบริษัท รังสิต พลาซ่า ได้มีการจับมือร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนาที่ดินไปประมาณ 20,000 ล้านบาท  จากเป้าหมายการลงทุนจนเสร็จสิ้นโครงการฟิวเจอร์ซิตี้ที่คาดว่าจะใช้ประมาณ 100,000 ล้านบาท

 

 

สำหรับความคืบหน้าของโครงการในปีนี้ บริษัท รังสิตพลาซ่า ยังคงเดินหน้าพัฒนาแม่เหล็กใหม่ๆ ให้กับโครงการฟิวเจอร์ซิตี้อย่างต่อเนื่อง  โดยในส่วนของโปรเจกต์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้  คือ การพัฒนาสปอร์ตฮับศูนย์รวมการออกกำลังกายขนาดใหญ่และสปอร์ตรีเทลช้อปชั้นนำ ประกอบด้วยฟิวเจอร์ อารีน่าซึ่งจะตั้งอยู่บนพื้นที่ 20 ไร่ ภายในมีสนามฟุตบอล-ฟุตซอล, สนามแบตมินตัน  คลับเฮาส์และร้านอาหาร

นอกจากนี้  ยังมีบริการครบวงจรและลานจอดรถกว่า 300 คัน พร้อมด้วยศูนย์การเรียนรู้ด้านฟุตบอล และแบดมินตันในลักษณะอะคาเดมี  รวมไปถึงบริการ  Sport Magnet  และ Sport Activity อย่างเช่น  สกี, ไอซ์สเก็ต, ฟิตเนส, โยคะ, โรงเรียนฝึกสอนมวยไทย, โรงเรียนเทควันโด, trampoline Jump และร้านสปอร์ตรีเทลชั้นนำ เพื่อสร้างความเป็นสปอร์ตฮับอย่างแท้จริงและสมบูรณ์แบบ

 

อีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญที่ บริษัท รังสิตพลาซ่า นำมาให้บริการ  เพื่อให้โครงการฟิวเจอร์ซิตี้ มีความครบวงจรมากขึ้น คือ ศูนย์รวมรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักธุรกิจระดับภูมิภาคที่ต้องการเดินทางไปติดต่อธุรกิจในภาคอื่นๆ เช่น ภาคเหนือ และอีสาน  เนื่องจากสถานที่ตั้งของโครงการฟิวเจอร์ซิตี้อยู่ใกล้สนามบินดอนเมือง  

ด้วยเหตุนี้  บริษัท รังสิตพลาซ่า  จึงได้จับมือร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจพัฒนาโรงแรมขึ้นมาใหม่จำนวน  2 โครงการ คือ โรงแรมระดับ 4 ดาว พื้นที่ 9 ไร่ อาคารสูง 11 ชั้น ประกอบด้วยห้องพัก 227 ห้อง, ห้องประชุมสัมนา, สระว่ายน้ำ และลานจอดรถ 151 คัน และโรงแรมระดับ 2 ดาว พื้นที่ 1 ไร่ เป็นอาคารสูง 7 ชั้น 79 ห้อง (ที่พักราคาประหยัด) มีลานจอดรถ 35 คัน  ซึ่งทั้ง 2 โครงการคาดว่าจะใช้งบลงทุนอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาท  ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4 ปี 2563

 

 

นางรัตนา อนันทนุพงศ์ ผู้อำนวยการด้านการตลาด บริษัท รังสิตพลาซ่า จำกัด  กล่าวว่า  แนวคิดของการที่จะพัฒนาที่ดินจำนวน  650 ไร่บริเวณโดยรอบฟิวเจอร์พาร์ค ให้เป็นฟิวเจอร์ซิตี้  ภายใต้คอนเซ็ปต์  “Center of Premium lifestyle and activity : ศูนย์รวมการใช้ชีวิตอย่างมีระดับของกรุงเทพฯ ตอนเหนือที่ประกอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและศูนย์รวมการค้าปลีกที่สมบูรณ์  ได้แก่ศูนย์รวมเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้าน,ศูนย์ออกกำลังกายขนาดใหญ่, ซูเปอร์ริจินัลมอลล์โรงพยาบาลเปาโล, โรงแรมและสปอร์ตฮับ โดยเปิดกว้างการลงทุนในลักษณะพันธมิตรทางธุรกิจ  ถือเป็นการลงทุนระยะยาว  ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท

ส่วนการพัฒนาที่ดินเพื่อเป็นอาณาจักรฟิวเจอร์ซิตี้ ด้านอื่นๆ นั้น  ขณะนี้บริษัท  รังสิตพลาซ่า  อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรธุกิจมืออาชีพหลายกลุ่ม เพื่อร่วมสร้างความสมบูรณ์แบบบนที่ดินแห่งนี้   และเพื่อรองรับการลงทุนใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  บริษัท  รังสิตพลาซ่า  ได้ทำการปรับถนนภายในโครงการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่มาใช้บริการ และรองรับโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้น

 

 

 

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์คและสเปลล์นับจากนี้  บริษัท รังสิตพลาซ่า  จะเน้นทำการตลาดแบบเจาะรายเซกเมนท์  ด้วยการแบ่งลูกค้าออกเป็น 3 กลุ่มหลัก  คือ  ครอบครัว วัยรุ่น และสูงอายุ  ด้วยการมุ่งให้ศูนย์การค้าเป็น “EXTRAODINARY EVERYDAY” ไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์  เพื่อให้คนทุกวัยมาใช้ชีวิตได้ทุกวัน  และเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า  3 กลุ่มดังกล่าว  บริษัท รังสิตพลาซ่า  จึงมีแผนที่จะทำให้เกิดคอมมูนิตี้ของแต่ละกลุ่มชัดเจนยิ่งขึ้น  ด้วยการเพิ่มความถี่ในการจัดแคมเปญและกิจกรรมการตลาดทุกสัปดาห์ 

นางรัตนา  กล่าวต่อว่า  ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ บริษัทจะก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว  ด้วยการทำการตลาดในรูปแบบ  Internet of thing โดยการเสริมศักยภาพด้านบริการด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างความแข็งแกร่งให้มากยิ่งขึ้น เช่น การปรับประสิทธิภาพบริการ FREE WIFI ความเร็วสูง 50 Mbps สนองตอบความสะดวกด้านการสื่อสารแบบเรียวไทม์ ของลูกค้าในทุกพื้นที่ โดยร่วมกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

นอกจากนี้  ยังมีการดึงพันธมิตรกลุ่มธนาคาร 8 ธนาคารชั้นนำ ได้แก่ กรุงเทพ, ไทยพาณิชย์, กสิกรไทย, กรุงศรีอยุธยา, ออมสิน, ทหารไทย และธนชาติ อำนวยความสะดวกด้วยการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มช่องทางการชำระสินค้า ระหว่างร้านค้าและลูกค้า ในรูปแบบ QR Code ให้สอดคล้องกับนโยบายสังคมไร้เงินสดของภาครัฐ  ซึ่งจะเริ่มช่วงเดือนก..นี้  เบื้องต้นมีร้านค้าที่ร่วมโครงการช่วงแรกคิดเป็นสัดส่วน  60%  ของจำนวนร้านค้าทั้งหมด

ขณะเดียวกัน ยังมีการติดตั้ง iBox ตู้ไปรษณีย์อัจฉริยะ โดยร่วมกับไปรษณีย์ไทย อำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มนักช้อปออนไลน์ ที่ไม่สะดวกรับพัสดุที่บ้าน ซึ่ง iBox คือ ตู้ล็อกเกอร์ที่สามารถนำจ่ายพัสดุให้แก่ผู้รับ โดยมีระบบตรวจสอบยืนยันความถูกต้องด้วยรหัสผ่าน OTP หรือ One time password  ซึ่งจากแนวทางการดำเนินธุรกิจดังกล่าว บริษัทรังสิตพลาซ่า มั่นใจว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการภายในศูนย์การค้าได้เพิ่มขึ้นเป็นที่น่าพอใจ  เช่นเดียวกับยอดการใช้จ่ายภายในศูนย์การค้าทั้ง 2 แห่งที่น่าจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยจากปัจจุบันมีอัตราเฉลี่ยที่ 2,200-2,300 บาทต่อครั้ง 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ก.ย. 2561 เวลา : 15:31:34
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 7:08 am