แบงก์-นอนแบงก์
หวั่นรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย กดดัน 'กำไรกลุ่มแบงก์'


สถานการณ์ขณะนี้ กำลังใกล้ช่วงประกาศงบไตรมาส 3 ปี 2561 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ หรือกลุ่มแบงก์แล้ว โดยเฉพาะแบงก์แรกที่จะประกาศงบออกมา ก็คือ ธนาคารทิสโก้ หรือ TISCO เช่นเคย โดยในรอบนี้จะแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 11 ..2561 นี้ 

 

 

 

ดังนั้น ฝ่ายวิจัยของ บล.เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) ประเมินกำไรไตรมาส 3 ปีนี้ 2561 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยคาดแบงก์ 10 แห่งที่ศึกษา จะทำกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ปี 2561 ได้ราว 5.18 หมื่นล้านบาท ลดลง 3% qoq แต่ยังเพิ่มขึ้นได้ 9.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน 

 

 

สำหรับกำไรหลักๆ ที่ลดลง มาจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ที่ยังถูกกระทบจากการฟรีค่าธรรมเนียมธุรกรรมออนไลน์, กำไรธุรกรรมเพื่อค้าและ FX และกำไรจากเงินลงทุนอ่อนตัวลง

 

 

ขณะที่ รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิ ยังเห็นการเติบโต สอดคล้องกับคาดการณ์สินเชื่อสุทธิที่เพิ่มขึ้นทุกกลุ่ม นำโดยสินเชื่อรายใหญ่ทั้งสินเชื่อสั้นและยาว สินเชื่อรายย่อย เช่น เช่าซื้อรถยนต์ ที่อยู่อาศัย และสินเชื่อบุคคล ยังโตต่อเนื่อง รวมถึงสินเชื่อ SME เริ่มฟื้นตัว

 

ส่วน NIM นั้น คาดไว้ที่ 3.09% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า หนุนด้วย yield ของเงินให้สินเชื่อที่เร่งตัวขึ้นสูงกว่าต้นทุนดอกเบี้ยจ่าย เนื่องจากสินเชื่อ high yield เริ่มมีมากขึ้น ขณะที่คาดว่า ค่าใช้จ่ายดำเนินงานค่อนข้างทรงตัวระดับสูง ตามการลงทุนด้าน IT ของแบงก์ใหญ่ เช่น แบงก์ไทยพาณิชย์ (SCB ) และแบงก์กรุงไทย (KTB)

สำหรับแบงก์ที่ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส คาดกำไรจะหดตัวแรงกว่ากลุ่ม เมื่อเทียบ qoq คือ บริษัททุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP ผลจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และ effective tax rate ที่เพิ่มขึ้นเป็นปกติ,แบงก์ไทยพาณิชย์ ค่าธรรมเนียมลดลง และค่าใช้จ่ายด้าน IT เพิ่มขึ้น, แบงก์กสิกรไทย (KBANK) รายได้ค่าธรรมเนียมและกำไรขายเงินลงทุนลดลง, แบงก์ทิสโก้ ผลจาก NIM และรายได้ค่าธรรมเนียมลดลง

ขณะที่ แบงก์ทหารไทย (TMB), แบงก์กรุงศรีอยุธยา (BAY), แบงก์เกียรตินาคิน (KKP) เป็นแบงก์ที่คาดว่ากำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2561 จะเติบโตไตรมาสก่อนหน้า และโดดเด่นกว่ากลุ่ม โดย 3 แบงก์นี้ หนุนด้วยรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิ ตามสินเชื่อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า ปัจจัยขับเคลื่อนสินเชื่อในครึ่งปีหลัง มีน้ำหนักชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนและการใช้จ่ายจากภาคเอกชนและภาครัฐ, การส่งออกที่ยังเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลบวกต่อความต้องการสินเชื่อในปี 2561-2562 ขณะที่ NIM ในปี 2562 มีแนวโน้มดี จากดอกเบี้ยเข้าสู่ทิศทางขาขึ้น

จากการศึกษาของฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส พบว่า ทุก 25 bp ของอัตราดอกเบี้ยตลาดที่ปรับขึ้น จะทำให้กำไรสุทธิปี 2562 ของกลุ่มแบงก์เพิ่ม 0.8% จากคาดการณ์ปัจจุบัน

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ให้น้ำหนักลงทุนกลุ่มแบงก์ เท่าตลาด เลือก แบงก์กรุงเทพ (BBL) และ TCAP เป็น top pick ของกลุ่ม เพราะเด่นทั้งพื้นฐาน และ valuation ที่อยู่ระดับต่ำ และปันผลจูงใจเฉลี่ย 4-5% โดย BBL ให้ราคาพื้นฐานปี 2561-2562  ที่ 220 บาท และ 233 บาท และ TCAP ที่ 65 บาท และ 70 บาท ตามลำดับ

 

ขณะที่ บล.เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AECS ได้ประเมินทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะมุมมองทางปัจจัยเทคนิเคิล (Technical View) ได้คาดการร์ดัชนีหุ้นไทย ยังพักฐานในแนวโน้มขาขึ้น 

โดยช่วงสั้นมองว่า ยังมีโอกาสย่อตัวก่อน แนวรับที่ 1,695 จุด (Uptrend Line) มองเป็นโอกาสเข้าซื้อสะสม โดยแนะนำหุ้นในกลุ่มที่น่าลงทุน โดยอิงกับสัญญาณเทคนิค ได้แก่ กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค  อาทิ  BANPU, EASTW  กลุ่มโรงพยาบาล เช่น THG  กลุ่มนิคม  เช่น ROJNA  กลุ่มอาหาร เช่น HTC, SST   กลุ่มสื่อ เช่น MAJOR   กลุ่มการเงิน เช่น AMANAH  กลุ่มค้าปลีก เช่น CPALL และหุ้นกลุ่มน้ำตาล เช่น BRR, KSL”

 

 

ส่วนสัปดาห์นี้ ตลาดต่างประเทศจะกลับมาเคลื่อนไหวผันผวน โดยมีปัจจัยหลัก คือ US Earning Yield Gap ที่บีบตัวแคบลงอย่างต่อเนื่อง (ล่าสุดอยู่ที่ 2.0958%) หลัง US Bond Yield ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ตอบรับตัวเลข เศรษฐกิจด้านแรงงานที่ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้มาก บวกกับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดที่เป็นแบบ Hawkish มากขึ้น ขณะที่ดัชนี DJIA ปรับขึ้นอยู่ในระดับที่ใกล้ Record High ทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงลดลง

อีกทั้ง PBOC ประกาศใช้มาตรการลด Reserve Requirement ของธนาคารขนาดใหญ่ลง 1% จากเดิมที่ 15.5% เพื่อรองรับผลกระทบจากมาตรการด้านภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ทำให้คาดเงินหยวนจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเทียบกับสหรัฐฯ กดดันให้สหรัฐฯ อาจพุ่งเป้าใช้มาตรการที่รุนแรงขึ้นกับจีนเพื่อลดยอดขาดดุลการค้า และสุดท้ายเข้าสู่ช่วงประกาศผลดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ซึ่งสัปดาห์นี้จะเริ่มจากหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ทำให้ดัชนีหุ้นยังมีโอกาสผันผวนตามทิศทางกำไรของหุ้นที่จะประกาศออกมา


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 ต.ค. 2561 เวลา : 14:09:55
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 10:09 pm