เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.ผ่อนเกณฑ์คุมสินเชื่อบ้าน เน้น'บ้านหลัง3'ให้วางดาวน์30%


ในที่สุดธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ แบงก์ชาติ  ก็ประกาศเกณฑ์คุมสินเชื่อบ้าน หลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  โดยคุมเข้มการกู้ซื้อบ้านหลังที่ 3 ที่ต้องวางเงินดาวน์ 30%  และขยายเวลาเริ่มใช้ เป็น 1 เม.ย.62


โดยนายสมชาย  เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ระบุว่า เกณฑ์การกำกับสินเชื่อบ้านจะมี สาระสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่  ด้านแรก คือการกำหนดเงินดาวน์ขั้นต่ำ หรืออัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน(แอลทีวี) สำหรับการซื้อบ้านสัญญาแรก ที่ราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท เกณฑ์วางดาวน์ไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยยังคงกำหนดแอลทีวีอยู่ที่ 90-95% หรือเมื่อรวมสินเชื่อท็อปอัพเช่นสินเชื่ออเนกประสงค์ ตกแต่งบ้านแล้วต้องปล่อยกู้รวมไม่เกิน 100%

         
แต่หากผู้กู้มีการกู้ผ่อนบ้านสัญญาแรกไปแล้วเกิน 3 ปี  หากจะกู้สัญญาที่ 2 เพิ่มกลุ่มนี้จะต้องวางดาวน์ 10 % แต่หากยังมีระยะเวลาผ่อนสัญญาแรก ไม่ถึง 3 ปี จะต้องวางเงินดาวน์ตามเกณฑ์เดิมที่20 % หรือแบงก์สามารถปล่อยสินเชื่อบ้าน รวมสินเชื่อท็อปอัพแล้วต้องไม่เกิน 80%

และหากเป็นการกู้ซื้อบ้านสัญญาที่ 3  เป็นต้นไป  กรณีผ่อนสัญญาอื่นๆยังไม่หมด ผู้กู้จะต้องวางเงินดาวน์ 30% หรือแบงก์ปล่อยกู้รวมท็อปอัพไม่เกิน 70%  อีกกลุ่มคือกลุ่มผู้ซื้อบ้านเกิน 10 ล้านบาท ต้องวางดาวน์สำหรับการซื้อบ้านสัญญาที่ 1-2 ที่ 20% ขณะที่หากเป็นสัญญาที่ 3 จะต้องวางดาวน์ 30%
    

ด้านที่สอง คือสินเชื่อท็อปอัพที่อาจกระทบต่อผู้ซื้อบ้าน โดยเฉพาะการให้สินเชื่อเพื่อจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตผู้กู้และประกันวินาศภัยต่างๆ   ซึ่งด้านนี้ถือเป็นประโยชน์กับผู้กู้ จึงให้มีการยกเว้น การนับสินเชื่อประเภทนี้รวมในสินเชื่อท็อปอัพ รวมไปถึงสินเชื่อที่ให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี เช่นสินเชื่อบ้านแลกเงิน เพื่อสนับสนุนให้เอสเอ็มอีมีต้นทุนที่เหมาะสม
         

ด้านที่สาม คือระยะเวลาการบังคับใช้ ที่มีการเลื่อนการบังคับใช้ออกไป 4 เดือน เป็น 1 เม.ย. 2562  จากกำหนดเดิมที่ 1 ม.ค. 2561  นอกจากนี้เกณฑ์นี้ยกเว้นผู้กู้ที่ทำสัญญาซื้อขาย ผ่อนดาวน์ก่อน 15 ต.ค. 2561 เพื่อลดผลกระทบต่อผู้กู้ที่มีการวางแผนซื้อและผ่อนดาวน์อยู่ก่อนแล้ว

ทั้งนี้หากพิจารณาสินเชื่อบ้านปล่อยใหม่ของสถาบันการเงินในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา   พบว่ามีการปล่อยกู้อยู่ที่ 1 แสนยูนิต พบว่า 86.4% เป็นการปล่อยกู้ให้กับผู้กู้ที่ซื้อบ้านสัญญาแรก ในราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท  ซึ่งแปลว่ามาตรการนี้ไม่กระทบ กับคนที่ซื้อที่อยู่อาศัยจริง   ขณะเดียวกัน กลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบราว 13.6%  จะแบ่งเป็นผู้กู้บ้านสัญญาที่ 2  ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท 7.6% และอีก 6% เป็นผู้กู้ซื้อบ้านสัญญาที่ 3

นายจาตุรงค์  จันทรังษ์   ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ที่ผ่านมา สถาบันการเงินมีการแข่งขันการปล่อยสินเชื่อสูงต่อเนื่อง  ดังนั้นหากไม่มีมาตรการในการเข้าไปกำกับดูแลพิเศษ หรือแม็คโครพลูเด็นเชียล  อาจทำให้การแข่งขันการปล่อยกู้นำไปสู่ปัญหาในระยะยาวได้   ทั้งนี้การกำหนดแอลทีวี  จะเป็นการยกระดับมาตรฐานการให้สินเชื่อ และเพื่อดูแลความสามารถชำระหนี้ของครัวเรือน    เพราะที่ผ่านมาแบงก์ได้ผ่อนเกณฑ์การปล่อยกู้บ้านลดลง  รวมถึงการให้เงินทอนต่างๆ  ดังนั้นเกณฑ์ดังกล่าว จะช่วยวางมาตรฐานเพื่อป้องกันมาตรฐานการปล่อยกู้ที่ผ่อนคลายลงเรื่อยๆ  นอกจากนี้ยังมีจุดประสงค์เพื่อลดดีมานด์เทียมในระบบ   

ส่วนเสียงสะท้อนของนายธนาคาร นายณัฐพล   ลือพร้อมชัย  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การเลื่อนออกไป 3 เดือนเหมาะสม เพื่อให้แบงก์ได้มีเวลาปรับตัว และเชื่อว่าเกณฑ์ที่ออกมาเป็นเกณฑ์ที่ปรับใหม่ที่เหมาะสม  ทั้งการกำหนดแอลทีวีตามสัญญาการซื้อบ้าน  โดยเฉพาะการนำเกณฑ์การผ่อนชำระ3 ปีมาใช้กำหนดการวางดาวน์ถือเป็นแนวคิดที่ดีของธปท.ที่มองผลกระทบอย่างรอบด้าน  ซึ่งเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วมาตรการนี้อาจไม่มีผลกระทบต่อสถาบันการเงินมากนัก โดยเฉพาะในด้านการปล่อยสินเชื่อ

ขณะที่นางอาภา  อรรถบูรณ์วงศ์  นายกสมาคมอาคารชุดไทย  ยอมรับว่า มาตรการดังกล่าวจะกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจอสังหาฯโดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียม  ซึ่งผู้บริโภค 2 กลุ่ม ที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่  กลุ่มแรกที่มีบ้านอยู่นอกเมือง  แต่ต้องการซื้อคอนโดมิเนียมกลางกรุง เพื่อใกล้แหล่งทำงาน หากผ่อนไม่ถึง 3 ปี  ต้องชะลอการซื้อออกไป เพราะหากต้องซื้อต้องเพิ่มเงินดาวน์เป็น 100%  กลุ่มต่อมาคือคนออมเงินผ่านการลงทุนอสังหาฯ ไม่ใช่เก็งกำไร  หากซื้อสัญญาที่ 2 และ 3 จะต้องเพิ่มเงินดาวน์อีก 2-3 เท่าตัว

 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 พ.ย. 2561 เวลา : 16:39:39
18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 6:19 pm