แบงก์-นอนแบงก์
SCB ประกาศแผน 3 ปี ยกระดับการใช้ดิจิทัล มุ่งสู่เป้าหมายธนาคารแห่งอนาคต


ไทยพาณิชย์พร้อมต่อยอด SCB Transformation เชื่อมโยงขีดความสามารถด้านดิจิทัล ชูแผน 3 ปี (2562-2564) มุ่งเน้นการเติบโตธุรกิจหลัก (Core Business) สร้างประสบการณ์รูปแบบใหม่ ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าแตะ 12 ล้านรายในปี 2562 และยกกระดับขีดความสามารถในการทำธุรกิจสินเชื่อรูปแบบใหม่ ทั้งด้านดิจิทัลและด้านข้อมูลควบคู่กับการลงทุนสำหรับอนาคตผ่าน Disruptive business model เพื่อสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด (Exponential growth) ตั้งเป้าสินเชื่อรวมปี 2562 เติบโต 5-7% ล่าสุดตั้ง SCB10X หน่วยงานใหม่ที่ทำหน้าที่สร้างผลิตภัณฑ์เชิงยุทธศาสตร์ (Strategic product) ผ่านโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ มั่นใจการผนึกกำลังทั้ง SCB10Xและบริษัทในเครือ อาทิ Digital Ventures และ SCB ABACUS จะนำพาไทยพาณิชย์สู่การเป็น The Future Bank


นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนและยุทธศาสตร์ที่ไทยพาณิชย์จะก้าวเดินในปี 2562 ว่า ธนาคารไม่ได้มองเรื่องกำไรเป็นตัวตั้ง แต่มองว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้ลูกค้าพอใจที่อยากจะใช้บริการของธนาคาร ซึ่งทั้งองค์กรต้องปรับวิธีคิดใหม่เอาเทคโนโลยีที่เราลงทุนมาสร้างสิ่งที่ลูกค้าพอใจ

“เราจะสร้างสิ่งที่ลูกค้าเลือกจึงจะสำเร็จ ไม่ใช่สิ่งที่ธนาคารเลือกให้ลูกค้า เพราะอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าต้องการ เราถึงต้องเปลี่ยนวิธีคิด ปรับยุทธศาสตร์ตีลังกา และเปลี่ยนองค์กรให้คล่องแคล่ว ตรงนี่เป็นสิ่งที่ไทยพาณิชย์พยายามอย่างมากที่จะข้ามจุดนี้ไปให้ได้ เพราะนั่นหมายถึงความสำเร็จที่รออยู่ที่เราเข้าใจลูกค้าอย่างแท้จริง”นายอาทิตย์กล่าว

นายอาทิตย์กล่าวต่อว่า เรื่องของกำไรที่ไม่ได้คิดเอากำไรเป็นตัวตั้ง หากมองย้อนกลับไป กำไรเราไม่ได้หวือหวามา 2-3 ปีแล้ว เพราะเรามีการลงทุนด้านไอที หักเป็นค่าเสื่อมพิเศษปีละประมาณ 4-5 พันล้านบาท เรายอมละทิ้งกำไรที่ควรจะทำ ซึ่งคณะกรรมการธนาคารก็เข้าใจ แต่ถ้าเราไม่ทำการเติบโตอย่างยั่งยืนก็ไม่มี

“ในปีหน้าเราจะทยอยออกสิ่งต่างออกมา มีกระบวนการต่างๆมาสู่ลูกค้า เราจะทดลอง และประเมินไปพร้อมๆกัน อะไรที่ถูกใจลูกค้ายึดลูกค้าไว้ได้เราก็ทำต่อ แต่หากอะไรที่ล้มเหลวลูกค้าไม่ชอบไม่ตรงใจเราก็เลิกและสร้างสิ่งใหม่ จะเห็นได้ว่าปีที่ผ่านมาผมก็สร้างอะไรใหม่ๆขึ้นมามากมาย”นายอาทิตย์กล่าว

นายอาทิตย์กล่าวต่อว่า สำหรับปี 2562 ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อรวมเติบโตประมาณ 5-7% หรือคิดเป็นเม็ดเงินปล่อยใหม่ 1-1.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนสินเชื่อรายใหญ่ 35% สินเชื่อเอสเอ็มอี 15% และสินเชื่อรายย่อย 50%

“จะเห็นได้ว่าเป้าหมายปีหน้า สัดส่วนสินเชื่อรายย่อยจะเป็นสินเชื่อที่เราให้ความสำคัญที่สุด โดยเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยให้มากขึ้นถึงครึ่งหนึ่งของพอ์ตสินเชื่อทั้งหมด และจะเน้นปล่อยสินเชื่อรายย่อยประเภทที่ไม่มีหลักประกันมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อบุคคล และสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็ก เนื่องจากมีมาร์จิ้นหรือผลตอบแทนที่ดี และเหมาะสมกับพอร์ตสินเชื่อของธนาคาร แต่อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของสินเชื่อประเภทนี้ก็สูงขึ้นด้วย แต่เราต้องมีวิธีการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่ดีและแม่นยำ  เพื่อให้ไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล โดยปี 2562 จะรักษาระดับเอ็นพีแอลไม่ให้เกิน 2.8-2.9% จากระบบที่อยู่ 3%

สำหรับพอร์ตสินเชื่อรวมปีนี้คาดทำได้ในกรอบล่าง 6% จากเป้าหมายที่เคยวางไว้ 6-8% เนื่องจากธนาคารมีการปรับพอร์ตสินเชื่อบ้านลง เพื่อเหมาะสมกับการแข่งขันที่มีความรุนแรง

ในขณะที่การตั้งสำรองในปี 2562 นั้น ธนาคารคาดจะลดลงจากปีนี้ แต่ต้องพิจารณาจากการขยายสินเชื่อด้วย โดยหากสินเชื่อมีการเติบโตการตั้งสำรองก็ต้องขยับขึ้นตามไปด้วย แต่ไม่ได้เกิดจากความเสี่ยง เพราะธนาคารมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ธนาคารคาดจะเปิดตัวบริการทางการเงินบนช่องทางดิจิทัลแบบเต็มรูปแบบในไตรมาส 1/62 เช่น บริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล การขอเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งคาดว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลที่แข็งแกร่งขึ้นดังกล่าวจะช่วยให้ธนาคารสามารถเพิ่มรายได้ใหม่ๆ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน และช่วยลดค่าใช้จ่ายอีกด้วย
 
และนับตั้งแต่ธนาคารไทยพาณิชย์เริ่มภารกิจยกระดับการเปลี่ยนผ่านองค์กรและการดำเนินงานภายใต้โครงการ SCB Transformation มาตั้งแต่กลางปี 2559 โดยปัจจุบันอยู่ในช่วงท้ายของโครงการ ด้วยเม็ดเงินลงทุนรวมกว่า 40,000 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าที่โดดเด่นและแตกต่างให้กับลูกค้าทั้งการนำเสนอประสบการณ์ดิจิทัลรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าบุคคลผ่านแพลตฟอร์มธุรกรรมบนมือถือ “SCB EASY” รวมถึงสนับสนุนการเติบโตของผู้ประกอบการ SME ในยุคดิจิทัล 

โดยในช่วง 2 ปีแรกของโครงการ ธนาคารมุ่งเน้นการ “ซ่อม เสริม สร้าง” รากฐานองค์กรให้แข็งแกร่งในหลายด้าน โดยมีความคืบหน้าอย่างเด่นชัด เห็นได้จากการขยายฐานลูกค้าโดยเฉพาะลูกค้าดิจิทัลอย่างมีนัยยะ โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานบนแอปพลิเคชัน SCB EASY กว่า 8.5 ล้านราย การเพิ่มจำนวนร้านค้าที่ใช้บริการแพลตฟอร์มการชำระเงิน QR Merchant หรือ “SCB แม่มณี” มากกว่า 1 ล้านรายภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี ธนาคารได้เริ่มต้นสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในการพัฒนา ecosystem กับทั้งมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วประเทศ บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก และธุรกิจค้าปลีก เป็นต้น

นอกจากนี้ในด้านประสบการณ์ดิจิทัลรูปแบบใหม่ได้เริ่มถูกถ่ายทอดสู่ลูกค้าตั้งแต่กระบวนการเปิดบัญชีผ่านการใช้ระบบเทคโนโลยีขั้นสูงที่ได้รับการพัฒนาจนเป็นนวัตกรรมในการทำความรู้จักลูกค้าและยืนยันตัวตนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-KYC & E-signature) ซึ่งช่วยลดระยะเวลาที่ใช้ในการเปิดบัญชีของลูกค้าบุคคลและนิติบุคคลได้อย่างมาก การพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชนจาก Digital Ventures มาสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement) ภายใต้โครงการ B2P (Blockchain Solution for Procure-to-Pay) ซึ่งจะใช้กับคู่ค้าและซัพพลายเชนของลูกค้านิติบุคคล และการนำบล็อกเชนมาให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อย เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการโอนเงินข้ามประเทศ จากเดิมที่ใช้เวลาเป็นวันเหลือเพียงไม่กี่นาที การใช้เทคโนโลยี

พัฒนาประสบการณ์การให้คำปรึกษาแก่ลูกค้า Wealth รวมถึงการปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล โดยล่าสุด SCB ABACUS ซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคารได้พัฒนาแพลตฟอร์มสินเชื่อดิจิทัลบน e-marketplace ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อสนับสนุนธุรกิจออนไลน์ขนาดย่อม โดยใช้ AI และ Machine learning ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ นอกจากนี้จากพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปใช้ช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ธนาคารได้พัฒนาเครือข่ายบริการในรูปแบบ omni-channel เพื่อสอดประสานและส่งมอบประสบการณ์ออฟไลน์และออนไลน์ให้กับลูกค้า โดยธนาคารมีแผนการนำเทคโนโลยี Chatbot เข้ามาช่วยสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าอีกด้วย

ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Financial Officer และ Chief Strategy Officer กล่าวว่า สำหรับแผนกลยุทธ์ 3 ปี (2562-2564) ธนาคารมุ่งเน้นการต่อยอดจากโครงการ SCB Transformation และยุทธศาสตร์ตีลังกา นำขีดความสามารถใหม่ด้านดิจิทัลและด้านข้อมูลมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงมุ่งเน้นการลงทุนสำหรับอนาคต โดยมีแนวทางการดำเนินงานใน 2 รูปแบบ ได้แก่ การเติบโตในธุรกิจหลักของธนาคาร และการลงทุนสำหรับอนาคต โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง
 

 
สำหรับการเติบโตในธุรกิจหลักของธนาคาร (Core business) จะมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าจากการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ผ่านการเชื่อมโยงขีดความสามารถใหม่เพื่อนำเสนอประสบการณ์รูปแบบใหม่ให้กับลูกค้า ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายผู้ใช้งานดิจิทัลเพิ่มขึ้นเป็น 12 ล้านรายในปี 2562 และยกระดับการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้อยู่บนช่องทางดิจิทัลมากขึ้น โดยคาดว่าในปีหน้าปริมาณธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลจะเพิ่มขึ้นเป็น 65% จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 55% ในขณะเดียวกันธนาคารจะเน้นการเติบโตธุรกิจผ่านขีดความสามารถใหม่ซึ่งจะเป็นแนวทางการสร้างรายได้ในมิติใหม่และลดต้นทุนธนาคารในด้านต่าง ๆ ดังนี้

*การเติบโตจากธุรกิจสินเชื่อ โดยธนาคารตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อ 5-7% ในปี 2562 และให้ความสำคัญกับการปรับพอร์ตโฟลิโอสินเชื่อโดยมุ่งเน้นการเติบโตสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (ทั้งสินเชื่อเพื่อการบริโภคและสินเชื่อธุรกิจรายย่อย) โดยใช้ขีดความสามารถในการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ ทั้งด้านดิจิทัลและด้านข้อมูล เพื่อสร้างรายได้มิติใหม่ให้กับธนาคารภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม

*การเติบโตจากธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง โดยผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ Julius Baer กลุ่มธุรกิจบริการไพรเวทแบงกิ้งชั้นนำจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในการให้บริการกลุ่มลูกค้าบุคคลที่มีความมั่งคั่งระดับสูง (Ultra HNW) และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเสริมสร้างประสบการณ์บริการที่สะดวกและตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า Private และ Affluent โดยธนาคารตั้งเป้าเพิ่มจำนวนฐานลูกค้า Wealth 20 - 25% และเพิ่มจำนวนสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (Wealth AUM) 8 - 10% ในปี 2562

ธนาคารจะเน้นการต่อยอดความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจจากหลากหลายอุตสาหกรรมทั่วโลกเพื่อสร้าง ecosystem และแพลตฟอร์มในการนำเสนอบริการรูปแบบใหม่ให้กับลูกค้า มุ่งเน้นการสร้าง “Lifestyle ecosystem” สำหรับลูกค้าบุคคล ทั้งด้านไลฟ์สไตล์, ท่องเที่ยว, ค้าปลีก, สุขภาพ และการสร้าง “Digital commerce ecosystem” สนับสนุนผู้ประกอบการ SME และผู้ประกอบการรายย่อยในการเติบโตและขยายธุรกิจในยุคดิจิทัล

นอกจากนี้ธนาคารยังคงให้น้ำหนักในการลงทุนสำหรับอนาคตผ่าน Disruptive business model เพื่อสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด (Exponential growth) โดยผ่านรูปแบบการจับมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีผ่านบริษัทลูกของธนาคารทั้ง Digital Ventures และ SCB ABACUS เพื่อให้ธนาคารสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีชั้นนำและนำมาต่อยอดปรับใช้กับธุรกิจธนาคารได้  รวมถึงธนาคารได้ตั้งแผนก SCB10X  ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ในองค์กร มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างผลิตภัณฑ์เชิงยุทธศาสตร์ (Strategic product) ผ่านโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่จะสร้างประสบการณ์และคุณค่าใหม่ให้กับลูกค้า
 
โดยดำเนินงานภายใต้การพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรวิถีใหม่ซึ่งมีความคล้ายสตาร์ทอัพ ให้ทีมงานมีแนวคิดและวัฒนธรรมของตัวเอง สามารถลองผิดลองถูกเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ไม่เคยมีมาก่อนที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวก และเมื่อผนึกกำลังร่วมกันระหว่าง Digital Ventures, SCB ABACUS และ SCB 10X จะนำพา SCB ให้กลายเป็นธนาคารแห่งอนาคต (The Future Bank) ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลาได้อย่างยั่งยืนตลอดไป
 

LastUpdate 07/12/2561 21:14:46 โดย : Admin
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 6:11 am