แบงก์-นอนแบงก์
SCBคาดจีดีพีไทยปีนี้โต4.2%ส่วนปี62 โต 3.9%


ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน  มองว่าในปี 2562 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องประมาณ 3.9%  ซึ่งแม้จะชะลอลงจากปี 2561 ที่ประเมินว่าจะเติบโตราว 4.2% แต่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีและสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีก่อน (ปี 2556-2560) ที่ประมาณ 2.8% ต่อปี โดยปัจจัยสนับสนุนหลักจะมาจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ที่คาดว่าจะขยายตัวในเกณฑ์ดีตามการฟื้นตัวของรายได้ การจ้างงาน และความเชื่อมั่น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะมีผลในช่วงต้นปี 


นอกจากนั้นการลงทุนภาคเอกชนก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ตามอัตราการใช้กำลังการผลิตที่สูงขึ้น การย้ายฐานการผลิตจากต่างประเทศและปัจจัยบวกจากการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขณะที่ยังจะได้รับแรงสนับสนุนจากแนวโน้มการส่งออก-การท่องเที่ยวที่จะขยายตัวได้แม้จะชะลอลงบ้างจากปี 2561 ตามเศรษฐกิจโลกที่เติบโตชะลอลง 
 

 
ภายใต้แนวโน้มของการเติบโตดังกล่าว เศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยภายนอกที่สำคัญ ได้แก่ สงครามการค้าโลกโดยเฉพาะระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อภาวะการค้าโลกและการส่งออกไทยในบางรายการแล้ว แม้ล่าสุดสหรัฐฯจะตกลงเลื่อนการปรับขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มเติมสำหรับสินค้าจากจีนออกไป แต่เป็นเพียงการสงบศึกชั่วคราว  ทั้งนี้การยุติสงครามการค้าอย่างแท้จริงซึ่งรวมถึงการยกเลิกภาษีที่ขึ้นไปแล้ว จะขึ้นกับการเจรจาในประเด็นต่างๆที่ค่อนข้างท้าทาย โดยเฉพาะประเด็นสินค้าเทคโนโลยีและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา จึงยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงและมีโอกาสที่สงครามการค้าจะกลับมาทวีความรุนแรงขึ้นได้อีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้น 

นอกจากนี้ในปีหน้าภาวะการเงินโลกยังคงมีแนวโน้มที่จะตึงตัวขึ้นตามแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาในการปรับตัวของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) ที่มีความเปราะบางสูง และอาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินโลกเป็นระยะ แม้ประเด็นนี้น่าจะไม่ได้กระทบโดยตรงกับไทยมากนักจากเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่ง แต่ก็มีโอกาสได้รับผลทางอ้อมจากภาวะความผันผวนในตลาดการเงิน รวมถึงการส่งออกที่อาจชะลอตัวเพิ่มเติมจากกำลังซื้อที่ลดลงของประเทศคู่ค้าที่ได้รับผลกระทบ 

สำหรับปัจจัยในประเทศก็ยังคงมีหลายประเด็นที่ต้องอาศัยความรอบคอบในการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่ยังไม่กระจายตัวมากนัก โดยค่อนข้างกระจุกตัวในการใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้ค่อนข้างสูง  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และยังมีภาระหนี้ครัวเรือนสูง ซึ่งต้องใช้เวลาเพิ่มเติมในการปรับตัวของครัวเรือน รวมถึงแนวทางการยกระดับทักษะแรงงานเพื่อเพิ่มรายได้แก่ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง สำหรับภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่มีการกู้ยืมในสัดส่วนสูง อาจมีความท้าทายเรื่องการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินที่จะเปลี่ยนไปตามแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้น 

รวมถึงแนวโน้มวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าจะเริ่มเข้าสู่ช่วงขาขึ้น โดยอีไอซีประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายประมาณ 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ภายในปีหน้า  ซึ่งถือว่าเป็นการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเทียบกับวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในอดีต เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะผสมผสานการขึ้นดอกเบี้ยกับการใช้มาตรการดูแลเสถียรภาพการเงินเฉพาะจุดเพิ่มเติม เพื่อลดความเสี่ยงของเสถียรภาพระบบการเงินจากภาวะดอกเบี้ยในระดับต่ำยาวนาน 
 
ทั้งนี้ความท้าทายในภาพรวมถือว่าเป็นความเสี่ยงที่อยู่ในระดับบริหารจัดการได้สำหรับเศรษฐกิจและภาคธุรกิจของไทย เสถียรภาพเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและเครื่องมือนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐที่เพียงพอจะช่วยลดผลกระทบและเป็นตัวกันชนต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ หากภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจสามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสมก็จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันพร้อมกับใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจไทยที่ยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดีในปีหน้า

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 ธ.ค. 2561 เวลา : 14:00:35
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 12:05 am