แบงก์-นอนแบงก์
KTBเปิดตัว Krungthai Logistics Card ตั้งเป้าเพิ่มธุรกรรมทางการเงินโลจิสติกส์ 30%


นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร และ นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย  แถลงข่าวเปิดตัว Krungthai Logistics Card ซึ่งกรมศุลกากรร่วมกับธนาคารกรุงไทย และ 4 องค์กรพันธมิตร ได้แก่ การท่าเรือแห่งประเทศไทย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ดับบลิวเอฟเอสพีจีคาร์โก้ จำกัด และสมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย พัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ Shipping  ในการชำระเงินภาษีอากร ค่าธรรมเนียม และรายได้อื่นๆ  ทั้งการนำเข้าและส่งออกครอบคลุมทุกบริการ 


นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ เปิดเผยว่า กรมศุลกากรเสมือนเป็นหน้าด่านของประเทศ ในการทำธุรกรรมการค้ากับต่างประเทศ เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกในการนำเข้า-ส่งออกแก่ผู้ประกอบการ ให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันกับการค้าโลกได้ และสนองนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้นำนวัตกรรมต่างๆ มาสนับสนุนการนำเข้า-ส่งออก การชำระค่าภาษีอากร ค่าธรรมเนียม และรายได้ต่างๆ ให้รวดเร็ว และลดต้นทุนของผู้ประกอบการ
 

 
โดยกรมศุลกากรมีเป้าหมายก้าวสู่การเป็น Customer 4.0 ด้วยการเปิดกว้าง พร้อมเชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยงานอื่นในทุกมิติแบบบูรณาการ เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกรมจัดเก็บภาษีด้วยกัน เพื่อให้มีการบริหารจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ สามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์ เพื่อนำไปสู่การบริหารข้อมูลแบบ Big Data และสนับสนุนพันธมิตรศุลกากรให้มีความเข็มแข็ง เพื่อช่วยขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์ของไทยต่อไป

นายกฤษษฎา กล่าวต่อว่า บัตรดังกล่าวช่วยอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการในการจ่ายภาษี และค่าธรรมเนียมกับกรมศุลกากร ทำให้ลดขั้นตอน ระยะเวลา ค่าใช้จ่าย ของผู้ประกอบการ และช่วยลดปัญหาการทุจริตที่จะเกิดขึ้น ทั้งจากตัวผู้ประกอบการเองถูกลูกน้องโกงเงิน หรือในส่วนของกรมศุลกากรลดปัญหาทุจริตของเจ้าหน้าที่ลง โดยในการรับชำระเงินภาษีอากร ค่าธรรมเนียม ของกรมศุลกากรปัจจุบันดำเนินการผ่านระบบอีเพย์เมนต์กว่า 50%  แคชเชียร์เช็คกว่า 40% และรับเป็นเงินสด 2% และหวังว่า ความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทยเปิดตัวบัตรกรุงไทยโลจิสติกส์  ทำให้การใช้เงินสด และแคชเชียร์เช็คลดลง  ซึ่งประเมินว่าจะมีผู้ประกอบการชิปปิ้งกว่า 6,000 ราย เข้ามาใช้บัตรดังกล่าวประมาณ 30%  
 

 
“กรมศุลกากรอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการชำระเงินผ่านธนาคารอิเล็อทรอนิกส์ หรือ บิลเพย์เมนต์ คาดว่าจะให้บริการภายในเดือนมกราคม 2562 ทำให้ผู้ประกอบการสามารถจ่ายเงินมายังกรมผ่านช่องทางต่างๆ เช่น อินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง โมบายแบงก์กิ้ง ตรงนี้จะสอดคล้องกับก้าวสู่สังคมไร้เงินสด ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0”

นายผยง  กล่าวว่า ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐได้ร่วมผลักดันนโยบาย Thailand 4.0 และ National e-Payment รวมทั้งสนับสนุนการเชื่อมโยงกับภูมิภาค เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่ง และโลจิสติกส์ของอาเซียน โดยเฉพาะในอินโดจีน ตลอดจนขับเคลื่อนธุรกิจขนาดกลางและเล็กในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ให้ก้าวสู่ Digital Economy ลดธุรกรรมด้านเงินสดและเช็ค (Cashless Society) โดย Krungthai Logistics Card เป็นบัตรแรก และบัตรเดียวในไทย ที่สามารถใช้ชำระค่าภาษีอากร ค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่ครอบคลุมการจ่ายเงินของหน่วยงานกรมศุลกากร สินค้าเข้าและสินค้าออก คาร์โก้ของการบินไทย และ BFS รวมถึงสามารถชำระค่าภาระและค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย และท่าเรือเอกชนผ่านเครื่อง EDC รองรับผู้ประกอบการในกลุ่มโลจิสติกส์ ทั้งผู้ประกอบการไทย และกลุ่มบริษัทข้ามชาติ หรือ Multi-Channel Company (MNC)  โดยตั้งเป้าเพิ่มปริมาณธุรกรรมการชำระเงินด้านโลจิสติกส์ขึ้นอีก 30%

“ธนาคารตระหนักถึงความต้องการของลูกค้า โดยออกแบบให้รองรับการชำระเงินของกลุ่มโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมที่สุดในไทย และเพื่อความปลอดภัย บัตร Krungthai Logistics Card ถูกออกแบบให้ใช้สำหรับการชำระเงิน ไม่สามารถทำรายการเบิก-ถอนเงินสดได้ เพื่อให้ผู้ใช้บริการมั่นใจ สะดวก และยกระดับความปลอดภัย ซึ่งผู้ประกอบการสามารถผูกบัตรได้ทั้งบัญชีกระแสรายวัน และบัญชีออมทรัพย์ ได้ไม่จำกัดจำนวนบัญชี สำหรับลูกค้าที่สมัครใช้บริการ ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 30 มิถุนายน  2562 ฟรีค่าธรรมเนียมแรกเข้า 100 บาท และฟรีค่าธรรมเนียมรายปี 130 บาทในปีแรก นอกจากนี้ ธนาคารอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบเพื่อรับชำระเงิน ด้านโลจิสติกส์อย่างครบวงจรมากขึ้น และในอนาคตผู้ถือบัตร Krungthai Logistics Card จะสามารถขอสินเชื่อโดยไม่ต้องใช้หลักประกันอีกต่อไป”
 

 
นายโกมล ศรีบางพลีน้อย ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2556 การท่าเรือฯ ธนาคารกรุงไทย และสมาคมชิปปิ้ง ได้ร่วมกันจัดทำบัตรเฉพาะหน่วยงานในการรับชำระเงินในการนำเข้า-ส่งออก โดยได้นำร่องที่ศูนย์บริการรับชำระค่าภาระของท่าเรือกรุงเทพ และวันนี้ทางธนาคารกรุงไทยได้เป็นตัวกลางในขยายความเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ทั้งกรมศุลกากร ท่าเรือเอกชน THAI Cargo และ BFS Cargo ในการร่วมสนับสนุน และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มโลจิสติกส์ เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินการบริหารจัดการเงินสด  นับเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยมีบริการอย่างครบวงจรมากขึ้น

นายดำรงค์ชัย แสวงเจริญ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI Cargo กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีที่ธนาคารกรุงไทยได้พัฒนาบริการด้านการชำระเงินด้วย บัตร Krungthai Logistics Card ขึ้น นับเป็นความก้าวที่สำคัญในการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าของ THAI Cargo ในการชำระค่าธรรมเนียมคลังสินค้าและบริการต่างๆ ได้อย่างมาก ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ THAI Cargo ในการเป็น World Class Cargo Terminal ก้าวสู่การให้บริการแบบระบบดิจิทัลมากขึ้น

นางสาวจุรีรัตน์ สุระเวก ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการคลังสินค้า กล่าวว่า บริษัท ดับบลิวเอฟเอสพีจีคาร์โก้ จำกัด ในฐานะหนึ่งในผู้ให้บริการคลังสินค้า ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้เล็งเห็นการขยายตัวของธุรกิจกลุ่มโลจิสติกส์ ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนองนโยบาย Thailand 4.0 ที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ประกอบการในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนั้น บริษัทจึงได้ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทยในการรับชำระค่าบริการผ่าน บัตร Krungthai Logistics Card เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบธุรกิจนำเข้า-ส่งออก และช่วยลดภาระความเสี่ยงด้านธุรกรรมผ่านเงินสดและเช็ค

นายยรรยง ตั้งจิตต์กุล นายกสมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย ที่มีสมาชิกกว่า 1,300 รายทั่วประเทศ ที่เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการทั้งนำเข้าและส่งออกผ่านด่านศุลกากร ซึ่งมีภาระและต้นทุนที่เกิดจากการชำระด้วยเงินสดและแคชเชียร์เช็ค ทั้งค่าภาษี ค่าใช้จ่าย และค่าธรรมเนียมต่างๆ ดังนั้น เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ จากการรับชำระด้วยเงินสดและเช็คด้วยระบบ e- Payment ทุกรูปแบบนั้น ทางสมาคมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ทางกรมศุลกากรจะเปิดรับชำระค่าภาษีอากรต่าง ด้วยบัตร Krungthai Logistics Card ได้ทุกด่านแล้ว รวมถึง คลังสินค้าของการบินไทย และ BFS ด้วย  อย่างไรก็ตาม ซึ่งจะทำให้สมาชิกและตัวแทนได้รับความสะดวก และลดต้นทุนการบริหารจัดการได้เพิ่มขึ้น 
 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 ธ.ค. 2561 เวลา : 17:23:56
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 8:37 pm