แบงก์-นอนแบงก์
ธ.กรุงศรีฯคาดผลประชุมกนง.พรุ่งนี้(19)ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25%


ธนาคารกรุงศรีคาดผลการประชุมกนง.วันพรุ่งนี้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ครั้งแรกในรอบ7 ปี  ขณะที่เศรษฐกิจไทยปีหน้าคาดเติบโต 4.1%ท่ามกลางความเสี่ยงจากปัจจัยนอก ทั้งสงครามการค้า-ดอกเบี้ยเฟด-เศรษฐกิจโลกชะลอ-Brexit 

          
นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอล มาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY)เปิดเผยในงานแถลงข่าว"ทิศทางตลาดเงินในปี 2562 และปัจจัยท้าทาย"โดยคาดการณ์ว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. ในวันพรุ่งนี้( 19 ธ.ค.)กนง.จะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% และปรับขึ้นอีกครั้งในไตรมาส 1 ปี 2562  ส่งผลให้ดอกเบี้ยไทยอยู่ที่ 2% ก่อนสิ้นปี 2562 ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยของกนง.ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เพราะตลาดรับข่าวมามากพอสมควร และแม้ปรับขึ้นดอกเบี้ยจริง อัตราดอกเบี้ยไทยก็ยังถือว่าอยู่ระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ต่างๆ จะยังไม่ปรับดอกเบี้ยตามกนง.ทันที
 

 
สำหรับเศรษฐกิจไทยปีหน้าเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเติบโตได้ 4.1% การส่งออกขยายตัวได้ที่ 4.5% จากปีนี้ที่ 7.8% แต่ยังเผชิญกับความไม่แน่นอนในหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน นโยบายการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด เศรษฐกิจโลกที่โตชะลอตัวลง หรือข้อตกลงกรณี Brexit ของอังกฤษกับอียู ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการค้า-การส่งออกของไทย  ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวจีน  ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีหน้า ต้องพึ่งพาการขับเคลื่อนด้วยปัจจัยภายในประเทศมากขึ้นจากภาคการบริโภคเอกชน และการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ เช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC)  การส่งออกเติบโตที่ 4.5% จากปีนี้ที่ 7.8%        
          
ส่วนทิศทางค่าเงินบาท กรุงศรีคาดการณ์ว่า เงินบาทสิ้นปีนี้น่าจะอยู่ที่ระดับ 32.50-32.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ  ขณะที่ในปีหน้าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามวัฎจักรการเติบโตของเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงปลาย โดยคาดการณ์ค่าเงินบาทไตรมาสแรกปี 62 ที่ระดับ 31.00-33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ไตรมาส 2 อยู่ในกรอบ 31.00-32.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ไตรมาส 3 และ 4 อยู่ในกรอบ 30.75-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ   
 
         
 
นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวเสริมว่า เงินบาทของไทยอ่อนค่าน้อยกว่าภูมิภาค โดยตั้งแต่ต้นปี 2561  อ่อนค่า 0.43% ขณะที่เงินรูปี ของอินเดียอ่อนค่ามากสุด 6.41%  เงินหยวนของจีนอ่อนค่า5.45%  เงินเปโซฟิลิปปินส์ อ่อนค่า 5.17% วอน เกาหลีใต้อ่อนค่า 4.70% ดอลลาร์ไต้หวันอ่อนค่า 3.38% ริงกิต มาเลเซียอ่อนค่า 3.18% ดอลลาร์สิงคโปร์อ่อนค่า 2.58% อย่างไรก็ตาม ด้านความสามารถในการแข่งขัน มองว่าปัจจัยค่าเงินอย่างเดียวไม่ได้เป็นปัจจัยชี้นำ เพราะแม้ค่าบาทจะแข็งค่า ในปี 2560 แต่การส่งออกไทยปี 2560 ขยายตัว 9% แต่จะขึ้นกับเศรษฐกิจและบรรยากาศการค้าโลกมากกว่า 

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 ธ.ค. 2561 เวลา : 20:26:14
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 1:09 am