แบงก์-นอนแบงก์
ศุลกากรจับมือ4 ธนาคารและตัวแทนรับชำระลงนาม MOU รับชำระภาษีผ่าน Bill Payment


ศุลกากรจับมือ 4 ธนาคารและตัวแทนรับชำระลงนาม MOU การให้บริการรับชำระค่าภาษีอากรผ่านระบบ Bill Payment เพื่อก้าวสู่สังคมไร้เงินสด


กรมศุลกากรจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง(MOU)การให้บริการรับชำระค่าภาษีอากรผ่านระบบ Bill Payment ร่วมกับธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น กรมศุลกากรจึงพัฒนาระบบการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยผ่านระบบ Bill Payment ซึ่งผู้ประกอบการสามารถชำระผ่านช่องทางการให้บริการของธนาคารได้หลายช่องทาง อาทิ Internet Banking Mobile Banking เคาน์เตอร์ของธนาคาร ATM รวมทั้งการชำระผ่านตัวแทนรับชำระ (Non-bank)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่าสืบเนื่องจากนโยบายรัฐบาลด้านการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ที่ต้องการให้ทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการและภาคเอกชน ลดการใช้เงินสดและเช็ค ดังนั้นเพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าว รวมทั้งเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ กรมศุลกากรจึงพัฒนาระบบการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยผ่านระบบ Bill Payment ซึ่งผู้ประกอบการสามารถชำระผ่านช่องทางการให้บริการของธนาคารได้หลายช่องทาง อาทิ Internet Banking Mobile Banking เคาน์เตอร์ของธนาคาร ATM รวมทั้งการชำระผ่านตัวแทนรับชำระ (Non-bank) โดยไม่ต้องเดินทางมาติดต่อกรมศุลกากรโดยตรง ซึ่งเป็นการลดต้นทุน และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ ประกอบกับกรมศุลกากรจะสามารถรับชำระค่าภาษีอากรและรายได้อื่น ๆ ผ่านระบบ e-Payment ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งกรมศุลกากรก็จะเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดได้อย่างแท้จริง และยั่งยืนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยในเบื้องต้น มีธนาคารที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 4 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และตัวแทนรับชำระ (Non-bank) บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด

 
นอกจากนี้ผู้ประกอบการที่ชำระผ่านระบบ Bill Payment รวมทั้งที่ชำระผ่านระบบการตัดบัญชีธนาคารยังสามารถพิมพ์ใบเสร็จรับเงินได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเดินทางมารับใบเสร็จรับเงินที่กรมศุลกากรอันเป็นการเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่าความร่วมมือในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งโครงการที่กรมศุลกากร และธนาคารกรุงไทย ร่วมกันส่งเสริมระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติของภาครัฐ(National e-Payment Master Plan)โดยนำเทคโนโลยีมาให้บริการกับลูกค้าและผู้ประกอบการ เพื่อลดธุรกรรมด้านเงินสดและเช็ค อันจะนำไปสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless society) เพิ่มความสะดวกและปลอดภัยให้กับผู้ประกอบการและผู้ชำระภาษี ไม่ต้องนำเงินสดหรือเช็คไปชำระที่หน่วยงานศุลกากร ในส่วนของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ก็ไม่ต้องมีภาระในการนับเงินและนำเงินไปฝากที่ธนาคาร อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบรายงานการรับชำระเงินที่บริการ Krungthai Corporate Online ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยธนาคาร กรุงไทยพร้อมสนับสนุนการให้บริการ และการทำธุรกรรมทางการเงินของกรมศุลกากร ผ่านระบบบริการจัดการทางการเงินของธนาคาร และเดินหน้าร่วมกันนำนวัตกรรมทางการเงินมาสนับสนุนนโยบายสำคัญต่างๆของภาครัฐ เพื่อนำประเทศไทยก้าวสู่ไทยแลนด์4.0ต่อไป

สำหรับนายฐานิศร์ ศิริโชติ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่าทางธนาคารกรุงเทพมีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนารูปแบบการรับชำระค่าภาษีอากรทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ Bill Payment ซึ่งการพัฒนานี้เป็นการยกระดับการให้บริการครั้งสำคัญของกรมศุลกากรและผู้ให้บริการด้านการเงินเช่นธนาคาร ด้วยการเพิ่มช่องทางในการชำระภาษีใบสั่งเก็บ, ใบขนสินค้าและใบแจ้งหนี้ให้แก่กรมศุลกากรจากช่องทาง Counter ธนาคารเพียงช่องทางเดียว ให้สามารถชำระเงินได้ทั้งที่ Counter ธนาคาร, ATM และ Bualuang mBanking นอกจากนั้นธนาคารยังได้ร่วมพัฒนาบริการให้มีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลการชำระเงิน Bill Payment ผ่านทาง Online แบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยลดความผิดพลาดและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี โดยทางธนาคารกรุงเทพเชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดเวลาการทำธุรกรรมของผู้ประกอบการและส่งเสริมความสามารถการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการของไทยให้เติบโตไปสู่ระดับสากลอย่างยั่งยืน

 
นายศีลวัต สันติวิสัฎฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่าธนาคารเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้กับกรมศุลกากร ช่วยให้สามารถตรวจสอบเอกสารการชำระภาษีอากรและค่าธรรมเนียมสินค้านำเข้าส่งออกได้รัดกุมยิ่งขึ้น ด้วยการรายงานผลแบบเรียลไทม์ พร้อมอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ชำระเงินทั้งกลุ่มธุรกิจห้างร้านและบุคคลทั่วไป ในการจ่ายผ่านช่องทางดิจิทัลของธนาคารกสิกรไทยได้ทั้ง K PLUS และ K-Cyber ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อแนวทางการรับชำระภาษีอากรด้านการนำเข้าส่งออก (Bill Payment)เพื่อต่อยอดการพัฒนาและขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจและสังคมไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ในส่วนของนางสาวนาถฤดี บุณยรัตพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสาย GTS Product Solution and Digital Platform ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยว่าธนาคารไทยพาณิชย์มีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนกรมศุลกากร เพื่อดำเนินการตามนโยบาย Digital Customs ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารไทยพาณิชย์ที่เน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อพัฒนาบริการที่เป็นดิจิทัลให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม พร้อมมอบสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป ที่ชำระเงินหรือชำระค่าธรรมเนียมในการดำเนินพิธีการทางศุลกากร โดยใช้ช่องทาง SCB EASY App หรือ SCB ATM จะใช้บริการได้ฟรี ไม่มีค่าธรรมเนียม ตลอดปี 2562 ทั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือดังกล่าว จะสามารถช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มช่องทางการบริการแก่ผู้ประกอบการและประชาชน ให้สามารถดำเนินธุรกิจไปได้อย่างคล่องตัว รวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา และธนาคารไทยพาณิชย์ยังมีความยินดีที่จะได้ร่วมพัฒนานวัตกรรมและบริการร่วมกับกรมศุลกากรต่อไปในมิติอื่น ๆ ในอนาคต
 
ด้านนายวีรเดช อัครผลพานิช รองกรรมการผู้จัดการบริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด กล่าวว่าการลงนามในบันทึกข้อตกลงฯครั้งนี้จะสามารถให้บริการประชาชนด้วยการรับชำระภาษีอากรทางอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ ค่าใบขนสินค้า ค่าใบสั่งเก็บและค่าธรรมเนียมกรมศุลกากร ซึ่งมั่นใจได้ว่า บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด มีความพร้อมในการเปิดให้บริการรับชำระภาษีอากรทางอิเล็กทรอนิกส์(Bill Payment) เป็นการเพิ่มช่องทางการรับชำระเงินค่าธรรมเนียมต่าง ๆ อีกทั้ง ยังสามารถช่วยให้ ความสะดวกแก่ประชาชนที่สนใจชำระค่าธรรมเนียมต่างๆได้ง่ายขึ้น ด้วยจำนวนจุดให้บริการรับชำระเงินเคาน์เตอร์เซอร์วิสทั้งในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ที่เปิดให้บริการทุกวันตลอด ๒๔ ชั่วโมง และตัวแทนจุดให้บริการรับชำระเงินเคาน์เตอร์เซอร์วิสอื่น ๆ ทั้งในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าต่าง ๆ รวมกว่า ๑๓,๐๐๐ สาขา ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มาใช้บริการทำให้การชำระภาษีอากร เป็นเรื่องที่ง่ายสะดวกขึ้น และเรายังมุ่งมั่นที่จะพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับผู้ใช้บริการทุกท่านต่อไป

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ธ.ค. 2561 เวลา : 19:59:36
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 12:00 am