แบงก์-นอนแบงก์
TISCO ตั้งเป้าสินเชื่อปี 62 โต 4% เน้นปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ


ทิสโก้ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อปีนี้4% เน้นสินเชื่อรถยนต์-จำนำทะเบียนรถ และรักษาระดับหนี้NPLไม่เกิน 2.86% มั่นใจเศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้4% จับตาสงครามทางการค้า-เบร็กซิท

 
นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป(TISCO) เปิดเผยว่าธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อปี62เติบโต 4% โดยปีนี้ธนาคารยังคงเดินหน้าขยายการเติบโตของสินเชื่อจำนำทะเบียนรถภายใต้แบรนด์ "สมหวัง เงินสั่งได้" ซึ่งเป็นกลุ่มสินเชื่อหลักที่เป็นแรงหนุนต่อการขยายตัวของสินเชื่อในปีนี้ ซึ่งตั้งเป้าสินเชื่อสมหวัง เงินสั่งได้เติบโตในปี 62 ที่ 10% ลดลงจากปีก่อนที่เติบโต 30% เนื่องจากฐานลูกค้าที่สูงขึ้น ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ซึ่งเป็นหนึ่งในสินเชื่อหลักของธนาคารจะมีการเติบโตในปีนี้ราว 4-5% ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 62 คาดว่าจะทรงตัวจากปีก่อน เพราะการแข่งขันของตลาด และผลกระทบจากมาตรการควบคุมสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามเกณฑ์การกำหนดเงินดาวน์ขั้นต่ำหรืออัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ที่จะเริ่มใช้ในเดือนเม.ย.นี้  
          
ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีคาดว่าจะทรงตัวในปีนี้ และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่คาดว่าจะเติบโตเล็กน้อยราว 5-10% สำหรับแนวโน้มของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยของธนาคารในปี 62 คาดว่าจะเติบโต 5% จากปีก่อนที่ทรงตัว หรือ 0% เนื่องจากธุรกิจนายหน้าขายประกันและธุรกิจนายหน้าซื้อ-ขายกองทุนรวมยังมีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจนายหน้าขายประกันที่ธนาคารได้มีการร่วมกับพันธมิตรบริษัทประกันในการขายประกันไปพร้อมกับการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนุนที่ทำให้รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
          
ด้านสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปี 62 คาดว่าจะยังทรงตัวจากปีก่อนที่ระดับ 2.86% ซึ่งธนาคารยังคงเน้นการบริหารหนี้เอง แต่การที่ NPL ยังไม่มีแนวโน้มลดลง เพราะภาวะเศรษฐกิจยังคงมีความเสี่ยงและมีความผันผวน

 
นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม TISCO กล่าวว่า ปี 62 ยังคงเป็นปีแห่งความท้าทายในการดำเนินธุรกิจ โดยความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนโลกจากหลายปัจจัยคาดว่าจะมีแรงกดดันต่อเนื่องในปีนี้ อาทิ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลกที่ยังคงยืดเยื้อ และหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตามที่มีการคาดการณ์ ผลกระทบต่อตลาดทุนโลกจะมากกว่าผลกระทบที่เกิดจากสหรัฐอเมริกาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปทุกประเทศรวมกันมีขนาดใหญ่กว่า 
          
สำหรับประเทศไทยประเมินว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ระดับ 4% ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา จากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลักขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัว ได้ดี โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  เช่นการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉะบัง ที่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้และมีเม็ดเงินลงทุนเป็นสองเท่าของปี 61 ทำให้ภาคเอกชนเกิดความเชื่อมั่นและมีการขยายการลงทุน อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อควบคุมคุมภาพหนี้ โดยจะยึดตามเกณฑ์ของสมาคมธนาคารไทยที่ภาระหนี้ของลูกค้าต้องไม่เกิน 40-50 % ของรายได้สุทธิ เพื่อไม่ให้ลูกหนี้มีภาระมากเกินไปจนกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระ

 
ส่วนผลประกอบการของธนาคารในปีที่ผ่านมา นายชาตรี จันทรงาม  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายควบคุมการเงินและบริหารความเสี่ยง บอกว่า ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งมาโดยตลอดทั้งปี โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 22.8%  สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 10.375% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 17.8% และ 5.0% ตามลำดับบริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 7,016 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.2% จากการเติบโตของรายได้จากธุรกิจหลัก และการรับรู้กำไรพิเศษจากเงินลงทุนและการขายธุรกิจ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.1% จากความสามารถในการรักษาอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อรวม และการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับการรับโอนธุรกิจลูกค้ารายย่อย โดยธุรกิจนายหน้าประกันภัยและธุรกิจตลาดทุนสามารถขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยรวมขยายตัว 8.7% ทั้งนี้บริษัทยังคงรักษาอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวมอยู่ในระดับต่ำที่ 43.7% ประกอบกับมีค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญลดลง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง และการควบคุมคุณภาพสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ

 
ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งมาโดยตลอดทั้งปี โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 22.8%  สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 10.375% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 17.8% และ 5.0% ตามลำดับ
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ม.ค. 2562 เวลา : 17:35:20
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 12:29 pm