เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"พาณิชย์"เกาะติดสถานการณ์อังกฤษ-อียูใกล้ชิดเตรียมพร้อมรับมือเบร็กซิท (Brexit)


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศประเมินสถานการณ์ทางการเมืองของสหราชอาณาจักรในกรณีเสนอแผนเบร็กซิทฉบับใหม่ต่อรัฐสภาอย่างใกล้ชิด เชื่อกระทบภาพรวมการค้าไทยไม่มากและอาจใช้โอกาสนี้สร้างข้อได้เปรียบทางการค้าแก่ไทย เปิดเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับสหราชอาณาจักร


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยว่ากระทรวงพาณิชย์โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองของสหราชอาณาจักรอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในส่วนที่จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป(อียู) เนื่องจากจะมีผลต่อการค้ากับไทยได้ต่างกันในแต่ละกรณี โดยหลังจากนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ชนะการลงมติไม่ไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2562 และมีแผนที่จะเสนอแผนเบร็กซิทฉบับใหม่ต่อรัฐสภาสหราชอาณาจักรในวันจันทร์ที่ 21 มกราคม 2562 นี้ โดยขณะนี้ต้องรอดูว่าสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียูจะเป็นไปในทิศทางใด โดยสหราชอาณาจักรอาจตัดสินใจออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ(No deal)หรือมีทางเลือกอื่นๆ เช่น การจัดการลงประชามติในเรื่องเบร็กซิทครั้งที่ 2 การยื่นขอเจรจาแก้ไขความตกลงเบร็กซิทกับอียูหรือการขอขยายเวลาการออกจากอียูจากกำหนดเดิมในวันที่ 29 มีนาคม 2562 ออกไป ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด

ซึ่งหากสถานการณ์ดังกล่าวมีความชัดเจนและทั้งสองฝ่ายสามารถให้สัตยาบันต่อความตกลงเบร็กซิทตามกรอบความสัมพันธ์ในอนาคตที่ได้ตกลงกันไว้เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2561 สหราชอาณาจักรก็จะมีเวลาปรับตัวและมีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 21 เดือน ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ก่อนออกจากอียูอย่างเต็มรูปแบบและจะช่วยลดความเสี่ยงของภาคธุรกิจตลอดห่วงโซ่การผลิตได้ในระดับหนึ่ง

นางอรมน เสริมว่าระหว่างนี้ผลกระทบจากเบร็กซิทต่อไทยอาจประเมินได้ใน 3 ด้าน คือ(1) ด้านภาพรวมการค้า เบร็กซิทน่าจะมีผลกระทบต่อภาพรวมการค้าไทยไม่มาก เนื่องจากในช่วงแรกกฎระเบียบของสหราชอาณาจักรต่อประเทศที่สามน่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมเท่าไรนัก อย่างไรก็ตามภาคการส่งออกอาจได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากความต้องการซื้อที่ลดลงของสหราชอาณาจักร เนื่องจากการอ่อนค่าลงของเงินปอนด์
 
(2) ด้านสินค้าโดยเฉพาะสินค้าที่อียูมีการกำหนดโควตาภาษีกับไทยในปัจจุบัน เช่น สัตว์ปีกแช่เย็นและแช่แข็ง มันสำปะหลังและข้าว เมื่อสหราชอาณาจักรออกจากอียูจะต้องมีการแบ่งโควตาภายใต้องค์การการค้าโลกระหว่างอียูกับสหราชอาณาจักร ไทยจึงต้องเร่งเจรจากับทั้งสองฝ่ายเพื่อไม่ให้สูญเสียส่วนแบ่งตลาดที่เคยได้ในตลาดทั้งสอง อย่างไรก็ตามการที่สหราชอาณาจักรจะออกจากอียูทำให้ต้องเร่งหาพันธมิตรทางการค้าใหม่ๆจึงเพิ่มโอกาสของไทยในการเจรจาความตกลงทางการค้าเสรี(เอฟทีเอ)กับสหราชอาณาจักรหากมีการเจรจาในเวลาที่เหมาะสม
 
(3) ด้านการลงทุนเป็นโอกาสที่ดีที่จะชักชวนนักลงทุนสหราชอาณาจักรเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)และในสาขาที่สหราชอาณาจักรมีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น การบินและโลจิสติกส์ ยานยนต์สมัยใหม่ ดิจิทัล เป็นต้น เพื่อส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานภาคอุตสาหกรรมของไทยและการใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาค

ทั้งนี้สหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าลำดับที่ 18 ของไทยและอันดับที่ 2 จากอียู ปี2560มีมูลค่าการค้าประมาณ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ1.53ของการค้าทั้งหมดของไทย
 

LastUpdate 18/01/2562 14:25:58 โดย : Admin
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 11:35 pm