แบงก์-นอนแบงก์
EXIM BANK ชูบทบาทเชื่อมผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดใหม่-สร้างผู้ส่งออกแข่งขันได้ทุกตลาด


EXIM BANK ประกาศปรับบทบาทเน้นนำผู้ประกอบการสู่ตลาดใหม่ ผ่าน6 ยุทธศาสตร์ พร้อมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ "สินเชื่อส่งออกเพิ่มสุข"ตั้งเป้าสินเชื่อ 400 ล้านบาท ช่วยผู้ส่งออกไม่น้อยกว่า 550 ราย


 
 
 
 
 
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยหรือ EXIM BANK เปิดเผยว่าในปี2562 ครบรอบ 25 ปีที่ธนาคารเปิดดำเนินงานและก้าวสู่ปีที่ 3 ของการปรับบทบาทใหม่ตามแผนแม่บท 10 ปี (ปี 60-70)ธนาคารจึงได้ทบทวนและปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและทิศทางเศรษฐกิจของไทย โดยกำหนด 6 ยุทธศาสตร์หลักได้แก่ 1.เชื่อมไทย เชื่อมโลก ด้วยการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ 2.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ 3.ป้องกันความเสี่ยงด้านการค้าและการลงทุนไทยในต่างประเทศ 4.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ 5.เพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ และ 6.พัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ
          
จากยุทธศาสตร์ดังกล่าวธนาคารจะทำหน้าที่เติมเต็มช่องว่างเครือข่ายธุรกิจเป็นตัวกลางสร้างเครือข่ายทางธุรกิจใหม่ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่สนใจรุกตลาดใหม่ (New Frontiers) โดยทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศเพื่อเชื่อมผู้ประกอบการไทย รวมทั้งสินค้าและบริการของไทย เข้ากับภาคการผลิตและผู้บริโภคในประเทศตลาดใหม่ รวมทั้งอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบที่เหมาะสมในการเข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการในตลาดใหม่ เช่น อินเดีย แอฟริกา และเวียดนาม หลังจากการเปิดสำนักงานผู้แทน EXIM BANK แห่งแรกและแห่งที่สองในย่างกุ้งและเวียงจันทน์ และแห่งที่3ในกรุงพนมเปญเดือนมีนาคมนี้
          
ขณะเดียวกันธนาคารจะพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเติมเต็มช่องว่างทางการเงิน สนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้รุกตลาดใหม่ได้อย่างประสบความสำเร็จ โดยมีความพร้อมทั้งด้านเงินทุนและเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่จะขยายธุรกิจได้อย่างมั่นใจ รวมทั้งสามารถยกระดับการผลิตไปสู่ระบบที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับสูงได้ เพื่อสร้างมูลค่าของสินค้าไทยให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเติมเต็มช่องว่างองค์ความรู้ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีข้อมูลเชิงลึกและรอบด้าน นำไปปรับใช้ในการเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจการค้าและการลงทุนได้อย่างประสบความสำเร็จทั้งในและต่างประเทศ
          
 
 
 
 
นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า การเติมเต็มช่องว่างเครือข่ายธุรกิจ การเงินและองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดย่อม (Small Enterprises) ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 99% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งประเทศ และสัดส่วน GDP ของผู้ประกอบการขนาดย่อมต่อ GDP ประเทศยังเติบโตอย่างต่อเนื่องจนแตะระดับ 30% ในปี 2560 หากผู้ประกอบการกลุ่มนี้สามารถยกระดับเป็นผู้ส่งออกได้มากขึ้นจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันธนาคารได้จัดตั้ง"ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXIM Excellence Academy : EXAC)" ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานจัดกิจกรรมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเริ่มต้นส่งออกหรือขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้น แบ่งตามระดับศักยภาพของผู้ประกอบการ ดังนี้ 1.กลุ่มผู้ที่ยังไม่เคยส่งออก (Neo-exporters) 2.กลุ่มผู้ที่เคยส่งออกบ้างแล้ว (Mid-pros) และ 3.กลุ่มผู้ที่ส่งออกอยู่แล้ว (High-flyers) ซึ่งยังต้องการการสนับสนุนทางการเงินและข้อมูลเพื่อขยายธุรกิจส่งออกให้เติบโตได้อย่างมั่นคง 
          
 
 
 
 
โดย EXAC จะจัดกิจกรรมตั้งแต่ระดับการบ่มเพาะความรู้ที่จำเป็นต่อการเริ่มต้นและขยายธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ  การไปสำรวจตลาดและโอกาสการส่งออก จับคู่ธุรกิจกับผู้ส่งออกที่เป็นเทรดเดอร์หรือผู้ซื้อในต่างประเทศ จัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชนมาให้คำปรึกษาแนะนำในทุกมิติ พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินสนับสนุนการเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจ ส่งเสริมการขยายพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ไปจนถึงการสร้างสังคมผู้ส่งออก โดยให้ผู้ส่งออกที่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งผู้ที่ผ่านการอบรมจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า กลับมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเป็นพี่เลี้ยงผู้ส่งออกรุ่นใหม่ต่อไป  เพื่อให้ประเทศไทยมีชุมชนผู้ส่งออกที่เข้มแข็งและแข่งขันได้ในทุกตลาดทั่วโลก
          
ธนาคารยังนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ "สินเชื่อส่งออกเพิ่มสุข (EXIM Happier Credit)" เป็นสินเชื่อหมุนเวียนช่วงก่อนและหลังการส่งออกผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นส่งออก (Start up) และไม่เคยได้รับสินเชื่อจาก EXIM BANK จะได้รับพิจารณาวงเงินสินเชื่อสูงสุด 700,000 บาทต่อราย ส่วนลูกค้าปัจจุบันของ EXIM BANK จะได้รับวงเงินสินเชื่อสูงสุด 1 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย/อัตรารับซื้อลด ปีแรกอยู่ที่ 5.50% ต่อปี ปีที่ 2 อยู่ที่ Prime Rate -0.50% ต่อปี (หรือ 5.75% ต่อปี) พร้อมวงเงินสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) สูงสุดเท่ากับวงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ใช้เพียงบุคคลค้ำประกัน  ซึ่งบริการใหม่นี้ธนาคารมีเป้าหมายอนุมัติวงเงินรวม 400 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดย่อมไม่น้อยกว่า 550 ราย 
          
สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารฯณ สิ้นเดือน ธ.ค.61 มีเงินสินเชื่อคงค้างสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 108,589 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,703 ล้านบาท หรือ 18.18% เมื่อเทียบกับปีก่อน แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 38,412 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 70,177 ล้านบาท ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 197,120 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs 106,362 ล้านบาท ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 มีเงินให้สินเชื่อคงค้างแก่ SMEs อยู่ที่ 42,906 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,765 ล้านบาท หรือ 15.53% 
          
ธนาคารมีกำไรสุทธิ 1,365 ล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs Ratio) ณ สิ้นเดือน ธ.ค.61 อยู่ที่ 3.78% โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพจำนวน 4,103 ล้านบาท และมีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 9,385 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,436 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 4,572 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองหนี้พึงกัน 205.25% ทำให้ธนาคารฯยังคงดำรงฐานะการเงินที่มั่นคง
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ก.พ. 2562 เวลา : 16:04:23
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 6:52 am