แบงก์-นอนแบงก์
แบงก์กรุงไทย ทุ่มงบลงทุน 19,000 ล้านบาท รุกบริการ "ดิจิทัล" เต็มรูปแบบ


นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า คณะกรรมการธนาคารได้อนุมัติงบลงทุน 19,000 ล้านบาทในช่วง 5 ปีเพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยี สำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5Ps ที่วางไว้ ให้ก้าวสู่บริการดิจิทัลเต็มรูปแบบ


 
 
 
โดยยุทธศาสตร์ของธนาคาร ประกอบด้วย หนึ่ง Platform การสร้างแพลตฟอร์ม โดยจะมุ่งเน้นรองรับการเชื่อมต่อโครงการรัฐส่งระบบเศรษฐกิจ สอง Parnership การมีพันธมิตรเข้ามาต่อยอดบริการหลากหลาย สาม Process  การปรับกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ สี่ People การปรับอัตราพนักงานใหม่และการส่งเสริมการฝึกฝนเพิ่มทักษะเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถรองรับการให้บริการดิจิทัลแก่ลูกค้าได้ 

และ ห้า Performance มุ่งรักษาผลการดำเนินงานของธนาคารไม่ให้ลดลง จากการที่รายได้ค่าธรรมเนียมมีแนวโน้มลดลง เพราะลูกค้าหันมาใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น 

“โดยยุทธศาสตร์ Performance ทุกอย่างจะเชื่อมโยงกัน โดยทุกบริษัทในเครือที่ธนาคารถือหุ้นอยู่ จะเดินไปในแนวทางเดียวกันและเชื่อมโยงกัน ทั้ง บริษัทหลักทรัพย์จัดการกรุงไทย (KTAM) บริษัทกรุงไทยแอกซ่าประกันชีวิต (AXA) บริษัท บัตรกรุงไทย (KTC) นอกเหนือจากการเป็นพันธมิตรกับภาครัฐ”นายผยงกล่าว

 
 
 
นายผยงกล่าวว่า ธนาคารมุ่งสู่การเป็น Invisible Banking ที่ลูกค้าสามารถจะใช้บริการได้ทุกประเภท ได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น โมบายแบงกิ้ง แต่ทั้งนี้ต้องมีจำนวนพนักงานและสาขาที่เหมาะสมที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่ Invisible Banking โดยประเมินว่าพนักงานจะลดลง 30% จาก 22,000 คนเป็น 21,000 คน และสาขาจะลดลงจาก 1,100 สาขาเป็น 1,000 สาขาในอีก 2 ปี อย่างไรก็ตาม ธนาคารไม่มีแผนปลดพนักงาน เพียงแต่ปล่อยให้จำนวนลดลงโดยแนวทางปกติ เช่น การเกษียณอายุ การเกษียณอายุก่อนอายุ 60 ปี หรือ early retire และการลาออกตามปกติ

นายผยง กล่าวว่า การผลักดันลูกค้าให้หันมาใช้บริการผ่านแอพพลิเคชั่น "Krungthai Next" ปัจจุบันธนาคารอยู่ระหว่างการปรับปรุงประสิทธิภาพและความสามารถรองรับปริมาณการทำธุรกรรมให้เพิ่มขึ้น ทำให้ปัจจุบันธนาคารชะลอการกระตุ้นลูกค้าให้มาใช้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นไปก่อนจนกว่าการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนมี.ค. 62 และหลังจากนั้นจะกลับมากระตุ้นลูกค้าให้มาใช้แอพพลิเคชั่นมากขึ้นอีกครั้ง โดยตั้งเป้ามีจำนวนผู้ใช้ "Krungthai NEXT" ในสิ้นปี 2562 ที่ 10 ล้านคน จากเดือนม.ค.2562 ที่ 4 ล้านคน

 
 
 
 
นายผยงคาดว่า การเติบโตของธนาคารในปีนี้ยังมาจากธุรกิจรายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้เร็ว โดยตั้งเป้าเติบโตที่ 6-7% ซึ่งธนาคารต้องการนำเสนอบริการต่างๆมากขึ้น พร้อมกับจะนำ Digital Lending เข้ามาให้บริการ นอกเหนือจากการให้บริการผ่านโมบายแบงกิ้ง Krungthai NEXT ที่ปัจจุบันมียอดผู้ใช้ 4 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 10 ล้านคนในสิ้นปีนี้ 

ธนาคารตั้งเป้าการขยายตัวสินเชื่อรวมในปีนี้ไว้ที่ 5% สอดคล้องกับการประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ที่ธนาคารคาดว่าจะขยายตัวได้ 4.1% โดยที่ยังขยายสินเชื่อบ้านอย่างต่อเนื่อง ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีในปีนี้ธนาคารจะเน้นไปที่กลุ่มที่เป็นซัพพลายเชนของลูกค้ารายใหญ่ และในกลุ่มสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งมีทางเลือกระดมทุนที่ต่ำกว่าการกู้เงิน อาจจะเป็นปีที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับธนาคาร เพราะในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ผู้ประกอบการรายใหญ่อาจจะหันไปออกตราสารหนี้ซึ่งมีต้นทุนในระดับต่ำแทนการขอสินเชื่อ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จะมีการส่งมอบงานอาจมาขอรีไฟแนนซ์หนี้ใหม่เพื่อลดภาระต้นทุนดอกเบี้ย นอกจากนี้ ธนาคารจะลดสัดส่วนสินเชื่อภาครัฐ เนื่องจากธนาคารมีต้นทุนทางการเงินสูงกว่าธนาคารของรัฐ 

“ในปีนี้ธนาคารมีแผนเปิดให้บริการสินเชื่อรถยนต์ในไตรมาสสอง โดยจะนำบริษัทกรุงไทยลีสซิ่งซึ่งเป็นบริษัทลูกกลับมาให้บริการที่ธนาคาร อย่างไรก็ตาม ธนาคารไม่ได้มุ่งหวังต้องการแข่งขันเพราะสินเชื่อสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มาร์จิ้นต่ำและมีการแข่งขันที่สูง ส่วนสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ แม้จะให้ผลตอบแทนที่สูง แต่ขณะนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาควบคุม การเติบโตในสินเชื่อประเภทนี้อาจชะลอตัวลง ธนาคารจึงไม่เน้นให้บริการ”นายผยงกล่าว

 
 
 
นายผยง กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้ารายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% ซึ่งรวมรายได้ค่าธรรมเนียมไว้ด้วยแล้ว โดยส่วนหนึ่งจะมาจากการขายประกันผ่านสาขาของธนาคารที่จะกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากที่ชะลอตัวในปีที่แล้ว เพื่อปรับตัวตามหลักเกณฑ์ Market Conduct ของธนาคารแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ ธนาคารอาจจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย MRR สำหรับลูกค้ารายย่อยเพื่อรักษา NIM ให้อยู่ในระดับที่ดี ธนาคารจะดูความเหมาะสมของภาวะในแต่ละช่วง และจะพยายามรักษากำไรสุทธิให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงหรือมากกว่าปีก่อน
         
ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารตั้งเป้าที่จะลดลงให้ต่ำกว่าจากปัจจุบันมีอยู่ในระดับ 100,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีอัตราส่วนการตั้งสำรองต่อหนี้สงสัยจะสูญในระดับ 120-130% ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 125%
          
นายผยงกล่าวว่า ธนาคารจะติดตั้งเครื่องตรวจสอบบัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์เชื่อมข้อมูลกับทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทย สำหรับใช้ในการทำธุรกรรมที่เคาน์เตอร์สาขาทั่วประเทศ และนำระบบสแกนใบหน้ามาใช้ เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมการเงินและการบริการ รวมทั้งลดปัญหาการทุจริตในรูปแบบต่างๆ
 
 

LastUpdate 26/02/2562 01:00:06 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 8:47 pm